รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกรณีที่บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบปรับลดเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 ปัจจุบันมีอยู่ราว 13 ล้านคน ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่มีอยู่ในระบบราว 4.85 แสนราย เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ก่อนหน้านี้ได้แจ้งมาตรการเยียวยาธุรกิจอาหารและธุรกิจอีเว้นท์ไปแล้ว
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …..
โดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564
ส่วนงวดเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 ทั้งนี้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า
นายสุชาติกล่าวต่อว่า การลดเงินสมทบในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน สำหรับนายจ้าง จำนวน 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤต ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท อันเป็นการลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น และเป็นการรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ รมว.แรงงานแจงว่าสามารถจ่ายเงินเยียวยาลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์และร้านอาหาร 50% กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด ตอบสนองคำเรียกร้องของสมาคมภัตตาคารและสมาคมธุรกิจอีเว้นท์
นายสุชาติ กล่าวว่า จากการพิจารณาแนวทางการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 (เพิ่มเติม) พบว่า เข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน
“ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน โดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก
หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง”