เอกชนหนุนฉีดวัคซีนเร็วเศรษฐกิจฟื้นเร็ว!?!เช็คจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกทม.เปิด 14 จุดรองรับ 5 หมื่นคนต่อวัน

1515

ถอดสมการโควิดเมษายน 2564 เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จากความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นฟื้นตัวได้จากการมีภูมิคุ้มกันหมู่ ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีนและนาทีนี้ จึงมีแต่การเร่งฉีดวัคซีนเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยได้ครบทั้งภูมิคุ้มกันหมู่ ความเชื่อมั่นกลับคืนมา นำไปสู่โอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด และนั่นคือความเห็นของเหล่า ซีอีโอ ทั้งหลายที่พร้อมใจกันเสนอตัวช่วยรัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้:11 พ.ค.2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการเตรียมพื้นที่ของภาคเอกชน เพื่อใช้ในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนว่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในส่วนของสถานพยาบาลและทำให้การกระจายวัคซีนทำได้เร็วขึ้น หลังจากที่ภาคเอกชนได้ตกลงร่วมกันที่จะให้ความร่วมมือเปิดจุดบริการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 25 จุด จากที่ก่อนหน้านี้พิจารณาไว้ 14 จุด โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ เพื่อเปิดให้บริการจุดแรกในวันพรุ่งนี้ วันที่ 12 พ.ค.2564  ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว หลังจากได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว

ส่วนจุดบริการในต่างจังหวัดนั้น ได้หารือกับประธานหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้เป็นแกนนำภาคเอกชนในการประสานหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน โดยจะนำเอารูปแบบของกรุงเทพฯไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งทางภาคเอกชนพร้อมที่จะทำงานสนับสนุนภาครัฐอย่างเต็มที่เพื่อทำให้การกระจายวัคซีนโควิด-19 ทำได้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2564 ทางหอการค้าไทย, กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมด้านสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ไปแล้ว 1 จุด โดยจะใช้เป็นต้นแบบให้ กทม.พิจารณาปรับปรุง ก่อนจะติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้มีการเชิญตัวแทนสถานที่อื่น ๆ (ที่ผ่านการคัดเลือกจาก กทม.) ไปดูโมเดลการจัดสถานที่ ร่วมกับ กทม. พร้อมตอบข้อซักถามในการจัดพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ กทม. ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับประชาชนได้สูงสุด 50,000 คนต่อวัน

“หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมให้บริการ 14 แห่ง ได้แก่

1.เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี2.เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล3.ไอคอนสยาม ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช 4.True Digital Park ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช 5.สามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์6.SCG บางซื่อ ร่วมกับกรมการแพทย์ 7.เดอะมอลล์ บางกะปิ ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

8.เดอะมอลล์ บางแค ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์9.ธัญญาพาร์ค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก10.เอเชียทีค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก11.โรบินสัน ลาดกระบัง ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก 12.โลตัส มีนบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก13.บิ๊กซี บางบอน ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก 14.PTT Station พระราม 2 ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก

ขณะที่สภาหอการค้าไทยได้เสนอสถานที่ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 11 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ในวันที่ 23 พ.ค. เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ และสำนักอนามัย กทม.จะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด รวมสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิดนอกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 25 แห่ง โดยมีศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1,000-3,000 คนต่อวัน และสามารถให้บริการได้ 38,000-50,000 คนต่อวัน เบื้องต้นทุกแห่งจะเปิดให้บริการต่อเนื่อง 7 เดือน

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 และการบรรเทาภาระค่าสาธารณูปโภคที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 พ.ค.เห็นชอบว่า นับเป็นมาตรการที่ออกมาได้ทันเหตุการณ์ เพราะขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อยังคงมีต่อเนื่องที่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะย่อมมีผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนและเศรษฐกิจ 

ปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็วยังจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลวางแผนไว้ 100 ล้านโดสในสิ้นปี นับเป็นเรื่องที่ดีแต่หากกระจายการฉีดให้เร็วขึ้นได้ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐจะมีแผนจัดหาและฉีดวัคซีนที่ชัดเจนแล้ว แต่ขณะนี้พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ว่าจะไม่ปลอดภัย ดังนั้น เห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้และความเข้าใจถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุม ครม.วันที่ 5 พ.ค.ได้เห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย 1. คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน 2. คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ 3. คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ และ 4. คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม