จับตาการบินไทยได้ไปต่อหรือร่วง?!? จะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ มีหนี้สินต้องชดใช้ เจ้าหนี้พร้อมหนุนเมื่อแน่ใจรัฐฯยังไม่เท!

1625

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์ลงเฟสบุ๊กชวนคุยในคลับเฮ้าส์ค้านหนุนการบินไทยไปต่อ อ้างเป็นภาระภาษี แต่ไม่เสนอทางออกที่ดีกว่าว่าหนี้ก้อนใหญ่จะทำอย่างไร? ถนัดเตะหมูเข้าปากใครกันแน่?

ปัญหาสะสมต้องสะสางแต่หนี้สินที่มีไม่ว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ก็ต้องชดใช้ ขณะล่าสุด กระทรวงการคลังชง ครม.อีกรอบวันนี้ ดัน “การบินไทย” กลับเป็นรัฐวิสาหกิจ หวังทันเส้นตายประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค.พรุ่งนี้ เพื่อสามารถค้ำประกันเงินกู้ประคองกิจการให้ไปต่อได้  แต่บิ๊ก“คมนาคม”กลับค้านอุ้มการบินไทย ย้ำไม่สนับสนุนเพิ่มเงินหรือค้ำประกันกู้ นอกจากไม่ต่อสัญญาการบินไทยบริหารพื้นที่ภาคพื้นดินแล้ว หนี้ที่มีอยู่จะให้ใครรับผิดชอบ??  รัฐบาลชุดไหนก็ต้องรับผิดชอบใช้หนี้อยู่ดี วิกฤตโควิด-19ระบาดไม่ใช่กรณีปกติ เกิดขึ้นทั่วโลก การช่วยเหลือธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ยังต้องทำ นอกจากนี้กลุ่มเจ้าหนี้ทั้งสถาบันการเงิน สหกรณ์ฯและสหภาพต่างพร้อมใจกันประคับประคองเพื่อรอวันฟื้นหวังได้หนี้คืน ปัญหาการขาดทุนสะสมมีมาตัังแต่รัฐบาลก่อนๆ ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาอย่างพอเหมาะ ไม่ใช่แค่ปัดสวะพ้นตัวมีแต่ทำให้ประเทศไทยเสียเครดิตไม่น่าลงทุน

วันที่ 11 พ.ค.2564 กระทรวงการคลังจะเสนอวาระเพื่อพิจารณาให้ ครม.เห็นชอบให้การบินไทย กลับเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง โดยการให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นการบินไทยเพิ่ม ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐกลับเข้าไปถือหุ้นการบินไทยเกิน 50% หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังขายหุ้น 3.17% ให้กองทุนวายุภักดิ์ ทำให้พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

การเสนอวาระให้ ครม.ครั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นชอบร่วมกันที่จะผลักดันให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อให้แผนแผนฟื้นฟูเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้พิจารณาร่วมกับการบินไทย ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรับทราบปัญหาการฟื้นฟูกิจการที่ต้องเพิ่มทุนและยืดหนี้บางส่วนออกไป โดยเจ้าหนี้บางส่วนไม่เชื่อมั่นว่าการบินไทยจะชำระหนี้ได้ด้วยตนเอง เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19ธุรกิจการบินไม่แน่นอนสูง ในขณะที่การมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจะทำให้การบินไทยเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งมติ ครม.ต้องมีผลก่อนการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค.นี้

สำหรับการฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงการคลังให้น้ำหนักอยู่ที่การปรับปรุงการดำเนินงานและการลดต้นทุนของการบินไทย ซึ่งได้ลดขนาดองค์กรและลดความซ้ำซ้อนของบุคลากร โดยเฉพาะลดสายบังคับบัญชาลง ประกอบกับแผนการฟื้นฟูที่ทำให้การบินไทยคล่องตัวขึ้น และมั่นใจว่าด้วยแบรนด์ที่แข็งแรงของการบินไทยหากช่วยให้การบินไทยที่เป็นสายการบินแห่งชาติผ่านขั้นตอนตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินที่มีกำไรได้หลังโควิด-19 คลี่คลาย

“กระทรวงการคลังมองว่าหากช่วยการบินไทยผ่านช่วงนี้ได้ โดยเพิ่มทุนและมีสถานะรัฐวิสาหกิจจะทำให้การบินไทยมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อ เพราะเจ้าหนี้ยอมยืดหนี้และผู้ถือหุ้นรายอื่นพร้อมเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบันการบินไทยเริ่มกลับมาบินได้หลายเส้นทาง เช่น เส้นทางยุโรปหลายประเทศ และไทยเริ่มเปิดประเทศเดือน ก.ค.นี้ การบินไทยได้รับมอบหมายให้รับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา ส่วนความเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่อุปสรรคการฟื้นฟูกิจการเพราะการบินไทยต้องดำเนินการในรูปแบบของเอกชนไม่ใช่ระบบราชการที่เทอะทะเหมือนอดีต”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ หากกระทรวงการคลังเสนอให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังมีสิทธิดำเนินการได้ แต่การพิจารณาอนุมัตินั้น ครม.จะพิจารณาว่าที่เหตุผลและความจำเป็นที่กระทรวงการคลังเสนอจะทำให้ฟื้นฟูกิจการการบินไทยได้จริงหรือไม่

ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม เห็นด้วยที่จะให้การฟื้นฟูการบินไทยจริงจังแบบสถานะเอกชนฟื้นฟูเพื่อให้องค์กรเดินต่อไป แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐไปสนับสนุนเรื่องเงินทุนหรือการเข้าไปค้ำประกันเงินกู้

การที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้จัดตั้งสายการบินแห่งชาติบริษัทใหม่ แล้วให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปตามกฎหมายล้มละลาย โดยไม่ให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น แม้ว่าฟังดูดี แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนและพนักงานการบินไทยจะเข้าใจความหมายหรือไม่ เพราะในที่สุดก็หมายถึงปิดโอกาสไม่ให้การบินไทยฟื้นได้นั่นเอง

ด้านนายไพบูลย์ แก้วเพทาย หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ บริษัท การบินไทยฯ ของสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้บริษัท การบินไทย 89 แห่ง มูลหนี้รวม 4.2 หมื่นล้านบาท กล่าวว่า สหกรณ์เจ้าหนี้ฯ เห็นว่า การบินไทยควรเป็นสายการบินแห่งชาติ ส่วนจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ต้องอยู่ที่กระทรวงการคลัง

นายไพบูลย์กล่าวว่า

“ภาพลักษณ์การบินไทยยังขายได้ เพียงแต่ต้องมีโมเดลธุรกิจที่ดี ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ และต้องล้างวัฒนธรรมลูกท่านหลานเธอ รวมถึงเครือข่ายคอนเนคชั่นที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน เรารู้ว่ามีคนมาเกาะมาหากินอยู่ ต้องล้างให้หมด หากทำได้ เชื่อว่าไปได้ เพียงแต่ว่ารอให้เศรษฐกิจมันฟื้นตัว”