จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (7 พฤษภาคม 2564) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ โดยมีรายละเอียดความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 11 รูป ดังนี้
1. พระราชปัญญาวิสารัท เป็น พระเทพมงคลวัชราจารย์ ภาวนาวิธานโกศล โสภณประชาธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ สถิต ณ วัดกระดึงทอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
2. พระราชวิสุทธิมุนี เป็น พระเทพวชิรญาณโสภณ โกศลศาสนกิจบริหาร ภาวนาวิธานธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จังหวัดสุรินทร์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
3. พระราชปฏิภาณโกศล เป็น พระเทพวัชรเมธี ศรีศาสนศาสตรบัณฑิต วิมลปริยัติกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา
4. พระญาณวิสาลเถร เป็นพระเทพมงคลวชิรมุนี ภาวนาวิธีวราจารย์ ไพศาลศาสนกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดสักกะวัน จังหวัดกาฬสินธุ์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
5. พระครูนิวิฐปุญญากร เป็น พระราชมงคลวัชราจารย์ ไพศาลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดธารทหาร จังหวัดนครสวรรค์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
6. พระครูปทุมภาวนาวิกรม เป็น พระราชวชิรมุนี ศรีวิปัสสนาธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดป่าจิตตภาวนา จังหวัดปทุมธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
7. พระครูปัญญาวรคุณ เป็น พระราชวชิรคุณ อดุลธรรมญาณนิวิฐ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดดอยพระเจ้าตนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
8. พระอธิการอุทัย สิริธโร เป็น พระราชวชิรญาณโสภณ โกศลภาวนากิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดเขาใหญ่ เจริญธรรมญาณสัมปันโน จังหวัดนครราชสีมา มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
9. พระอธิการบุญมี ธมฺมรโต เป็น พระราชวชิรญาณโกศล วิมลวิปัสสนาศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดป่าศรัทธาถวาย จังหวัดอุดรธานี มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1
10. พระครูภาวนาปรีชา วัดนิคมสามัคคีชัย จังหวัดลพบุรี เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระภาวนาวชิรญาณ
11. พระคม อภิวโร วัดป่าธรรมคีรี จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระวชิรญาณโกศล
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2564 ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
สำหรับประวัติที่ได้รับสมณศักดิ์นั้น เป็นพระที่มีความปฏิบัติดี ปฏิบัตชอบ เป็นผู้สมถะเรียบง่าย และยังเป็นที่เคารพแก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก
สำหรับ หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม วัดกระดึงทอง เป็นพระสายปาติโมกข์ ท่านเป็นศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร และพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ ท่านเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ของท่านคือ แน่วแน่กับการปฏิบัติภาวนาไม่เสื่อมคลาย อยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย
หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล พระนักอนุรักษ์ป่า ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นพระที่สร้างกำแพงคอนกรีตล้อมป่า เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และก็ทรงรับไว้ในโครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ต้นแบบตามแนวชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว
หลวงปู่หา สุภโร หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ พระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะธรรมยุติกนิกาย เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า และได้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ ทำให้มีการขุดค้น โดยเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยและยังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สิรินธร บริเวณที่ขุดค้นพบอีกด้วย
หลวงพ่อพัฒน์ ปุญญกาโม วัดห้วยด้วน(ธารทหาร) ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์เรืองเวทวิทยาคม พุทธาคมที่มีชื่อเสียงมายาวนาน หลวงพ่อท่านเป็นศิษย์พุทธาคมของ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, หลวงพ่ออิน วัดหางน้ำสาคร, หลวงพ่อหมึก วัดสระทะเล และหลวงพ่อโหมด วัดโคกเดื่อ
พระอาจารย์ประสพไชย กันตสีโล (พระอาจารย์เปี๊ยก) ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ ของพระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
หลวงพ่อทองแดง วรปัญโญ เป็นพระกัมมัฏฐานทางภาคเหนืออีกรูปที่มีข้อวัตรปฏิปทาน่าเลื่อมใส ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน สมควรกราบไหว้บูชายิ่ง องค์ท่านเคยได้ศึกษาอบรมธรรมกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่วัน อุตตโม ทางภาคอีสาน เมื่อท่านขึ้นมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป และหลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร และเป็นที่ยอมรับของท่านพระอาจารย์ทั้งสองรูปนี้
พระอาจารย์อุทัย สิริธโร เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่เจริญธรรมญาณสัมปันโน เป็นที่เคารพในฐานะเสาหลักพระกรรมฐานในยุคปัจจุบัน
หลวงปู่บุญมี ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ และจากนั้นจึงมาอยู่ศึกษาธรรมกับองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ท่านเรียกกันในหมู่พระว่า “ยุคหัวทิ่มดิน” หมายความว่า ถ้าไม่แน่จริงอยู่กับองค์ท่านหลวงตาไม่ได้ หลวงตามหาบัว ท่านให้ธรรมะอันแหลมคมดุจเหล็กหลาวทิ่มแทงกิเลสภายในหัวใจศิษย์ซึ่งหนาประดุจดั่งแผ่นดิน ให้ยุบยอบและหลอมละลายกลายมาเป็นผู้มีธรรม
พระอาจารย์คม อภิวโร เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อช่วงที่มีโควิดระบาด ท่านได้นำคณะศิษย์ออกแจกเครื่องอุปโภคบริโภคให้ชาวบ้าน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสู้วิกฤตโรค Covid 19 ด้วยหลักที่ว่า “โยมใส่บาตรพระมามากแล้ว ให้อาตมาได้ดูแลโยมบ้างนะ” ทำให้ซึ้งใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก