จีนฟาดกลับสหรัฐ-กลุ่มG7 เสี้ยมไต้หวัน-ใส่ร้ายไม่เลิก!?!เย้ยแก้ปัญหาในบ้านตัวเองก่อน ค่อยแส่เรื่องสิทธิมนุษยชนประเทศอื่น

1996

จีนออกโรงสวนสหรัฐและกลุ่มG7 ประณามความเห็นด้านสิทธิมนุษยชนในการแถลงการณ์งานประชุม G7 ที่เสร็จสิ้นลงในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ย้ำให้กลับไปแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19ระลอกใหม่ และปัญหาภายในของประเทศตนเองก่อนที่จะมาเที่ยวจุ้นจ้านเรื่องชาวบ้าน พร้อมเย้ยว่าโลกได้เห็นชัดเจนว่าใครทำได้ดีกว่าในเรื่องการจัดการการระบาดโควิด-19

บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 นำโดยสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งย่อยที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 3-5 พ.ค.2564 โดยเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด แต่ต้องเปลี่ยนเป็นการประชุมแบบผสม ทั้งออนไลน์และพบหน้าเนื่องจากผู้แทนของอินเดียติดโควิด-19

นักการทูตรายหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐต้องการกลไกการหารือที่เกี่ยวข้องกับ G7 รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจในความร่วมมือตอบโต้ความเคลื่อนไหวของจีนและเพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นของกลุ่มประเทศ G7

การริเริ่มดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการรวมตัวกันของเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 3 ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ที่เข้าร่วมในกลุ่ม G7 โดยทั้ง 3 ประเทศได้เข้าร่วมกับคณะทำงานของปธน.โจ ไบเดนเพื่อต้านทานจีน

นอกจากนี้ ยังมีการหารือข้อเสนอเพื่อจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “เพื่อนของฮ่องกง” เพื่อแบ่งปันข้อมูลและความกังวลเกี่ยวกับฮ่องกง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ได้แก่ เมียนมา รัสเซีย ยูเครน และข้อตกลงเกี่ยวกับกลไกการตอบสนองที่รวดเร็วเพื่อตอบโต้การบิดเบือนข้อมูลซึ่งคาดว่าจะแนบท้ายไว้ในแถลงการณ์ร่วมฉบับสุดท้าย

หลังการประชุมสิ้นสุดลง ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในนามกลุ่ม G7โดยระบุว่า จะเพิ่มมาตรการกดดันรัฐบาลจีนจากประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนที่เป็นไปในเชิงบีบบังคับ นอกจากนี้กลุ่มประเทศ G7 ยังได้ส่งสัญญาณให้การสนับสนุนไต้หวันด้วย 

ข้อความในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า

“เราจะร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจโลก เมื่อต้องเผชิญกับนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่มุ่งรวบอำนาจและบีบบังคับเช่นนี้” 

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วมยังมีการแสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลจีนบ่อนทำลายโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยของฮ่องกง รวมถึงสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ หลังจีนยกระดับการขยายอิทธิพลและอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเซนกากุที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่

หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่า จีนขอประณามแถลงการณ์ของ G7 ที่วิพากษ์วิจารณ์ใส่ร้ายการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ ในซินเจียงด้วยข้อมูลเท็จ เป็นการหมิ่นประมาทและเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของจีนอย่างร้ายแรง ขณะที่เรียกร้องให้ชาติตะวันตก “มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์มากกว่าบ่อนทำลาย” ตามหลักการพื้นฐานระหว่างประเทศ

ท่ามกลางความพยายามของสหรัฐ ในการโน้มน้าวและกดดันประเทศอื่น ๆให้เข้ามาร่วมวงต่อต้านจีนมากขึ้น

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ทางการจีนได้เผยแพร่ซ้ำคำปราศรัยของของปธน.สี จิ้นผิง ซึ่งประกาศเมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า “โลกสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าใครทำได้ดีกว่าในการต่อสู้กับการระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก” โดยปัจจุบันจีนได้เข้าสู่ช่วงของการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ในขณะที่สหรัฐฯ มัวแต่หาเรื่องชาวบ้าน แต่ยังต้องพิมพ์เงินมาใช้จ่ายกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจีนได้ก้าวนำสหรัฐฯไปไกล

จีนระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนและต่อต้านตัวแทนอย่างเป็นทางการของไต้หวันในเวทีโลกอย่างถึงที่สุด  นอกจากนี้ จีนยังได้ยกระดับกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ใกล้กับไต้หวันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเพื่อแสดงแสนยานุภาพและยืนยันสิทธิการปกครองเหนือดินแดนไต้หวันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวัน ได้เปิดเผยว่า แถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม G7 ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวถึงไต้หวันในแถลงการณ์ร่วม ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันได้กล่าวขอบคุณการสนับสนุนของกลุ่ม G7 

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวว่า ไต้หวันจะกระชับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 อย่างต่อเนื่อง และยังคงมีส่วนร่วมในการสร้างพลังบวกที่ยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและสุขภาพโลก รวมถึงสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเต็มที่