Truthforyou

นักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์-ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์ โพสต์เหยียดอดีตสนช.ทั้งที่เสียชีวิตไปนานแล้ว

จากที่วันนี้ 7 พฤษภาคม 2564 วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์หญิงคนแรกของประเทศ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Veeraporn Nitiprapha จากการแชร์ข้อความพร้อมภาพ กลุ่มคนกำลังเดินโดยมีชายผู้อาวุโส ถือไม้เท้าช่วยพยุง โดยข้อความของนักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์ ระบุว่า

“กำหนดก้าวสั้นๆ อั้นปัสสาวะ หรี่เสียงโทรศัพท์ ยังไม่ได้เลยค่ะ ขออภัยที่จาบจ้วงล่วงเกิน แต่เลิกเป็นภาระคนรุ่นหลังอยู่กับบ้านไปเหอะค่ะ”

ขณะที่ภาพและข้อความที่ นางวีรพร ได้แชร์มา จากเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งได้โพสต์ภาพและข้อความไว้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ซึ่งระบุเนื้อหาว่า

“1 ใน 250 ส.ว พยุงร่างไปรับเงินเดือน , กูขำไม่ออกเสียดายเงินภาษี”

ทั้งนี้ทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของนักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์คนดังกล่าวที่ปัจจุบันเธอยัง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์ ด้วย จึงทำให้ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบถึงภาพและเหตุการณ์นั้นว่าบุคคลในภาพเป็นใคร ก็พบว่าก็คือ นายสมพร เทพสิทธา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งไม่ใช่ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ตามที่มีการกล่าวอ้างในเฟซบุกข้างต้น และตามภาพ เหตุการณ์นั้นไม่ใช่การเดินทางไปรับเงินเดือนแต่อย่างใด

สำหรับนายสมพร เทพสิทธา นอกจากเป็นอดีตสนช.แล้ว ยังเคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีประวัติส่วนตัว เกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 (ปัจจุบันอายุ 96 ปี) ที่จังหวัดนครปฐม จบการศึกษาชั้นมัธยมที่ 6 จากโรงเรียนนครปฐมวิทยาลัย แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี พร้อมกับสมัครเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนได้ปริญญาบัญชีบัณฑิต และธรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง แล้วได้รับทุน ก.พ.ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาตามความต้องการของกรมการค้าต่างประเทศได้ปริญญาโท ทางการบริหารธุรกิจ สาขาการค้าต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

ทั้งนี้ นายสมพร ระบุว่า ปัจจุบันเป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสถาน, ประธานสภายุวพุทธรักสมาคมแห่งชาติฯ, ประธานสภาศูนย์ประสานงานภาคเอกชนแห่งชาติ, นายกสมาคมส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ, รองประธานมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯเพื่อเอาชนะฯ และประธานมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมพวงจิตต์ บุรฉัตร

ขณะที่นางวีรพร  เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2505 (ปัจจุบันอายุ 59 ปี)ในครอบครัวชนชั้นกลาง นวนิยายเรื่องแรก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ชนะรางวัลซีไรต์ประจำปี 2558 และเรื่องต่อมา พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ได้รับรางวัลซีไรต์สาขานวนิยาย ประจำปี 2561

กระนั้นที่น่าสนใจและชวนตั้งคำถามกับนักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ ซึ่งเป็น รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ทำไมถึงแชร์ข้อมูลเฟคนิวส์ อีกทั้งภาพข่าวดังกล่าวก็เป็นเรื่องเก่า แต่การนำภาพเก่ามาเขียนข้อความในทำนองบูลลี่ผู้สูงอายุ และหากดูถ้อยความแม้เจ้าตัวจะออกตัวว่าขออภัยที่จาบจ้วงที่ดูรุนแรง หยาบคาย ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง??? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางวีรพร ทราบหรือไม่ว่า นายสมพร ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2557 จำนวนไม่เกิน 250 คน และในการเปิดประชุมครั้งแรกจะต้องให้ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด คือ นายสมพร เทพสิทธา ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 มีขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลังรัฐประหาร และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ยังนับเป็นสภาแรกที่ออกพระราชบัญญัติมากถึง 450 ฉบับ พระราชกำหนด 16 ฉบับ  เฉพาะที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่นับรวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อีก 4 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 470 ฉบับ โดยประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ก่อนจะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีการเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 หลังมีการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562

Exit mobile version