สถานการณ์ในเมียนมายังคงรุนแรงต่อเนื่อง มีผู้ประท้วงกลุ่มรุนแรงสู้กลับหน่วยกำลังผสมทหารตำรวจ ส่งผลมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องขณะการรบชายแดนระอุ ระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธคะฉิ่น ล่าสุดทหารคะฉิ่นสอยเฮลิคอปเตอร์กองทัพเหนือน่านฟ้าพื้นที่สู้รบ ขณะในตัวเมืองย่างกุ้งเกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องโดยยังไม่มีใครอ้างเป็นผู้ก่อการ ส่วนทางการพม่าแฉเป็นพวกต้องการยั่วยุสร้างภาพรุนแรง ในส่วนของสหรัฐและตะวันตกต่างเรียกร้องให้ปล่อยผู้สื่อข่าว ที่ถูกจับกุมเพราะเข้ามาทำการรายงานข่าวที่ทางการพม่าถือว่าเป็นการรายงานบิดเบือนข้อเท็จจริง
เมื่อ 3 พ.ค.64 เกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องหลายครั้งในภาคย่างกุ้ง แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุ ขณะที่ทางการเมียนมาระบุว่า เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการยุยงให้เกิดเหตุรุนแรง
ในวันเดียวกันสำนักข่าวเอพีประจำประเทศไทย รายงานว่ากองทัพเอกราชคะฉิ่น หรือ เคไอเอ (Kachin Independence Army: KIA) ซึ่งมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร ยังคงดำเนินอยู่ในรัฐคะฉิ่น และรัฐอื่นๆ ทั่วเมียนมา นับเป็นครั้งแรกที่อากาศยานถูกยิงตก ในระหว่างการสู้รบในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพรัฐบาลเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย เบื้องต้นยังไม่มีความเห็นจากรัฐบาลเมียนมา ต่อคำกล่าวอ้างของเคไอเอ
ชาวคะฉิ่นเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยทั่วเมียนมา ที่ร่วมการประท้วง หลังจากกองทัพรัฐบาลเมียนมาก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กองกำลังในรัฐคะฉิ่นจับอาวุธต่อสู้ กับกองทัพเมียนมามานานหลายสิบปี เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองที่กว้างขวางกว่าเดิม
ด้านสนข.Reuters รายงานอ้าง พ.อ.หน่อบู โฆษกกองทัพคะฉิ่นอิสระ (KIA) ว่า KIA ยิงตอบโต้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา ส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาถูกยิงและตกในพื้นที่ของ KIA ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาสู้รบกับ KIA ต่อเนื่องในพื้นที่ จ.โมเมาะ ตั้งแต่ 11 เม.ย.64 โดยพยายามบุกตีเพื่อยึดฐานปฏิบัติการของ KIA บริเวณใกล้กับชายแดนจีน และเน้นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ
บอจ่อแฮ รอง ผบ.กองกำลัง KNU/KNLA เรียกร้องให้กะเหรี่ยง DKBA ,KNLA-PC ,BGF รวมพลังสู้กองทัพพม่า นี่เป็นโอกาสของชาวกะเหรี่ยง หลังมีข่าว DKBA และ KNLA-PC ไปเจรจาทหารพม่า
นอกจากนี้ สนข.Reuters รายงานว่า การชุมนุมประท้วงกองทัพเมียนมาของชาวเมียนมาจำนวนมากบนท้องถนนเมื่อ 2 พ.ค.2564 พร้อมขอความร่วมมือชุมชนชาวเมียนมาในต่างประเทศในการแสดงพลังและจารึกเหตุการณ์ว่าเป็น “วันปฏิวัติของชาวเมียนมาทั่วโลก (Global Myanmar Spring Revolution)” ทำให้กองกำลังความมั่นคงเมียนมาเข้าปราบปรามในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในภาคย่างกุ้ง ภาคมัณฑะเลย์ และรัฐฉาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน
ขณะที่สหรัฐฯ ร่วมกับ 16 ประเทศตะวันตก เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวสื่อมวลชนที่ถูกควบคุมตัว โดยเว็บไซต์ สถานเอกอัครราชทูต(สอท.)สหรัฐฯ/ย่างกุ้ง เผยแพร่ถ้อยแถลงร่วมกับ สอท.ประเทศต่าง ๆ อีก 16 ประเทศ เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวมากกว่า 80 คน ที่ถูกควบคุมตัวหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อ 1 ก.พ.2564 และให้ยุติมาตรการเข้มงวดการใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนที่อยู่ในเมียนมา ทั้งนี้ ประเทศที่ออกแถลงการณ์ร่วมกับสหรัฐ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สเปน และสาธารณรัฐเช็ก
อาหรับสปริง เป็นคลื่นปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยยุทธวิธีเริ่มจากการเดินขบวน การประท้วงและในที่สุดผลักดันให้เกิดสงครามกลางเมือง และขั้นสูงสุดคือ การเข้ามาแทรกแซงโดยสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ด้วยข้ออ้างจัดระเบียบเพื่อให้ประเทศที่ขัดแย้งกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงคือหลังเกิดสงครามใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2553 เรื่อยมาสงครามยังไม่จบสิ้น เพราะความแตกแยก ช่วงชิงอำนาจทำประเทศแตกแยก ประชาชนหนีภัยสงครามกลายเป็นผู้อพยพนับล้านๆที่ยังคงเป็นปัญหาวิกฤตมนุษยธรรม และอาชญากรรมอยู่ทุกวันนี้