ส.ศิวรักษ์ ดันก้น”เพนกวิน” เปรียบ”พันท้ายนรสิงห์” ! หนุนคุกคาม”ผู้พิพากษา”อ้างนำประวัติส่วนตัวเผยแพร่คือวิธีต่อสู้?

2733

สุดย้อนแยง!?! ส.ศิวรักษ์ ดันก้น”เพนกวิน” เปรียบ”พันท้ายนรสิงห์” ! หนุนคุกคาม”ผู้พิพากษา”อ้างนำประวัติส่วนตัวเผยแพร่คือวิธีต่อสู้?

จากกรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหารประท้วง เป็นเวลากว่า 46 วันแล้ว โดยเมื่อวานนี้ (30 เมษายน 2564) เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้ทำการส่งตัว เพนกวิน เข้า รพ.รามาธิบดี เพื่อให้สารอาหารทางหลอดเลือดแดง และเตรียมในวันที่ 6 พฤษภาคม

ล่าสุด ทางด้าน ของส. ศิวรักษ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีของเพนกวินที่กำลังประท้วงอดอาหาร เพื่อเรียกร้องให้ประกันตัว ซึ่งส. ศิวรักษ์ ก็ได้เปิดใจว่า ถ้าศาลมีใจเป็นธรรมอยู่บ้าง ต้องให้เขาประกันตัว จะให้เขาตายในคุกได้ยังไง เพราะคดีก็ยังเพิ่งจะเริ่มเอง ถ้าอดอาหารมาตั้งหลายวันแล้วก็ไม่มีกำลังจะพูดอะไรได้แล้ว เพียงเท่านี้ศาลก็ไม่มีมนุษยธรรม ผมรู้สึกเสียดายมาก ศาลก็ยังเป็นที่พึ่งของราษฎรได้ แต่นี่ศาลกลับทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อราษฎร เป็นที่น่าน่าเศร้า น่าเสียใจว่าอย่างน้อย ถ้ามีศาลเป็นที่พึ่ง แต่ตอนนี้ศาลไม่เป็นที่พึ่งให้ใครได้แล้ว กระบวนการที่ทำของเรา มาถึงจุดตันแล้ว ไปไม่รอดแล้ว บ้านมึงเลวร้ายขนาดนี้แล้ว ผมไม่รู้จะพูดยังไง ก็ได้แต่แสดงความเสียใจไม่เฉพาะเพนกวินและญาติพี่น้องเขา เสียใจต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเลย เพราะคนที่ควรจะทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมก็ปราศจากความยุติธรรม มีความติดยึด เป็นที่น่าเศร้าเสียใจจนไม่รู้จะมีอะไรมาพูดอีกแล้วครับ

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ประชาชน ต่อสู้ด้วยวิธีการคุ้ยประวัติผู้พิพากษา ?

ส.ศิวรักษ์กล่าวว่า “คนที่เขาออกมาต่อต้าน เขาก็ไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว ต้องสู้ในเรื่องส่วนตัวเลย เรื่องส่วนตัวก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มนุษย์เราเมื่อหมดหนทาง เขาก็ต้องออกมาต่อสู้ทุกๆทางที่จะสู้ได้ ที่น่าเสียดายว่าการต่อสู้ควรจะเป็นไปตามที่อาจารย์ป๋วยเรียกว่า สันติประชาธรรม แต่ตอนนี้มันเลยเถิดไปจนกระทั่งสันติประชาธรรม ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในสังคม สังคมไทยเข้ารกเข้าพงทุกทีแล้ว เรามีรัฐบาลเผด็จการซึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ไม่เข้าข้างความยุติธรรม ผมจะพูดอะไรแล้วตอนนี้”

เมื่อถามถึง กรณีที่บอกว่า เพนกวินกำลังจะตายในคุก?

ผมก็ไม่มีทางอื่นนะครับ ต้องเอาความดีสู้แล้วก็ต้องให้กำลังใจเพนกวินว่า เขาสู้มาตลอด เขาสู้มาอย่างถูกต้องดีงาม ที่แม้อาจจะถึงสิ้นชีวิตไป ก็เป็นชีวิตที่มีค่ามาก ผมก็คิดในแง่นี้แล้ว เราจะเป็นฝ่ายชนะตลอดไปนะ เราต้องใช้ขันติธรรม ต้องใช้เมตตาธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เป็นคำหรู แต่เป็นคำที่จะมาประยุกต์ใช้ได้จริงๆครับ เมืองไทยไม่ใช่เมืองเดียวนะครับ ที่ความเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เผอิญเราอยู่เมืองไทยก็ได้เห็นความเลวร้ายของโครงสร้างไทยมากกว่าที่อื่นพยายามมองกว้าง มองระยะยาว ต้องเอาความดีความชั่ว ผมความเชื่อเลยว่า ระยะยาวความดีความชั่วมันไม่ทันใจเราครับ แต่ต้องอดทนอดกลั้น

เพนกวิน เป็นตัวอย่างเลยนะครับ เด็กหนุ่มๆพร้อมที่จะตายเพื่อความเชื่อ อันนี้มันกลับไปไม่แตกต่างจากพันท้ายนรสิงห์เลย พันท้ายนรสิงห์ตายตามความเชื่อของท่าน ทั้งๆที่พระเจ้าแผ่นดินยกโทษให้ท่าน แต่ท่านก็ยอมตาย อันนี้มันเป็นสัญลักษณ์เลยว่า คนไทยเนี่ยเราไม่ทิ้งคุณงามความดีในอดีต ดังนั้น จึงเปรียบเทียบ “เพนกวินกับพันท้ายนรสิงห์” ประดุจเดียวกันเลย การที่เรามีคนกล้าหาญเช่นนี้ ยืนหยัดกับระบบที่ชั่วร้ายขนาดนี้เนี่ย เราควรจะภูมิใจ กรณีของพันท้ายนรสิงห์พระเจ้าแผ่นดินเองเลยนะครับ ออกมาประทานอภัยโทษให้พันท้ายนรสิงห์ แต่ของเรานี่ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินนะครับ ศาลเองเนี่ยทำตัวเลวร้ายกว่ายิ่งกว่าพระเจ้าเสืออีกครับ เห็นเด็กตัวเล็กๆน้อยๆเนี่ยจะปล่อยให้ตายในคุก เราก็มองพวกพิพากษาเหล่านี้ ควรจะสงสารเขา เมตตาเขา เขาถูกความเกลียดความกลัวบดบังตาเขา อันนี้มันจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้

สำหรับพันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือในรัชสมัยพระเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตอนปลายอาณาจักรอยุธยา โดยพันท้ายนรสิงห์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ เป็นคนมั่นคง ยอมเสียสละชีวิตโดยไม่ยอมเสียพระราชประเพณี และด้วยคุณงามความดีของพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกบอกเล่าต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้พันท้ายนรสิงห์กลายเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก ในด้านความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง ยอมตายเพื่อมิให้กฎหมายบ้านเมืองคลายความศักดิ์สิทธิ์ ดังคำที่ว่า “ตายในหน้าที่ ดีกว่าอยู่ให้อับอาย”

เมื่อครั้งที่พระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย ประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งถึง”ตำบลโคกขาม”ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้วกราบทูลให้ทรงลงพระอาญาตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ ในเวลาเช้าตรู่ ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 2247 แล้วสร้างศาลไม้ขนาดเล็กพร้อมกับศีรษะของพันท้ายนรสิงห์และโขนเรือเอกไชยขึ้นตั้งไว้บูชาพร้อมกัน