เทียบชัด “เอนก” เอาผิดจรรยาบรรณ “อาจารย์มธ.-มหิดล”ช่วยนศ.ที่จาบจ้วง ขณะ”นิด้า”ตั้งตามพระราชดำริร.9 สั่งสอบ “ดร.อานนท์” ที่ปกป้องสถาบันฯ!
จากกรณีที่ได้มีการดำเนินการให้ตรวจสอบบรรดาอาจารย์ที่ปกป้องและยื่นประกันตัวผู้ต้องขังตามความผิดมาตรา 112 นั้น โดย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) มีบัญชา ถึงอธิการบดีมธ. และม.มหิดล ขอให้ชี้แจงกรณีการสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ที่ปกป้อง-ยื่นขอประกันตัวกลุ่มนักศึกษาที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์
ตามที่ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอทราบแนวทางการแก้ไขและบทลงโทษของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 8 ราย ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนนักศึกษา จำนวน 3 ราย ที่ตกเป็นจำเลย ในข้อหากระทำผิดกฎหมายใน มาตรา 112 และมาตรา 116 แห่งประทวลกฎหมายอาณา ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาเพื่อขอประกันตัวนักศึกษาทั้ง 3 ราย โดยมี นายดวงฤทธิ์ และรองศาสตราจารย์ นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน
นอกจากนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ยังพบถึงความเคลื่อนไหวของนายอเนก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาด้วยว่า ได้กล่าวถึงกรณีมีนักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวสนับสนุนการชุมนุมของม็อบ 3 นิ้ว และการทำกิจกรรมของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือว่า ขอให้กำลังใจผู้บริหารทุกระดับของทุกมหาวิทยาลัย ที่ยืนหยัดรักษากฎหมาย ขอย้ำว่าอาจารย์จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรใคร ก็ไม่ว่า รับได้ แต่ถ้าแตะ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วเราไม่มีทางอื่น นอกจากต้องดำเนินการ เพราะท่านทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ และกระทั่งผิดจรรยาบรรณความเป็นอาจารย์
“โดยส่วนผมเข้าใจดีเรื่องเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้น ไม่ว่าที่ไหนในโลก รวมทั้งตะวันตก ล้วนต้องมีขอบเขต ใครที่ต้องการเสรีภาพที่สุดขั้ว ที่มากล้นกว่านี้ ก็ไม่ควรอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัย ไม่มีใครบังคับให้อยู่ที่นี่ ทราบว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ พอใจในเสรีภาพวิชาการ มีแค่อาจารย์ส่วนน้อยนิด ที่มีข่าวออกมา แต่ถ้าไม่เชื่อหรือทำอะไรที่เกินกว่าขอบเขต จะรุกล้ำอะไรมากกว่านี้ ตนก็เสียใจที่จะบอกว่า เตรียมตัวรับผลที่จะตามมา” นายเอนกกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่องการรัฐประหาร ทำให้ต่อมาถูกฝ่ายม็อบหรือที่เรียกว่า สามกีบ เยาวชนปลดแอกรุมรีพอร์ตนั้น และได้มีการล่ารายชื่อให้ทาง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมอ.อานนท์ถึงกรณีดังกล่าว
ต่อมาทางด้าน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่อง กรณีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของบุคลากรสถาบัน ระบุว่า
ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทั่วไป เรื่องประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า สอบจริยธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากกรณีการแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ นั้น
ศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถาบัน ได้รับทราบข้อมูล รวมถึงข้อกังวล ความห่วงใย ตลอดจนความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้สะท้อนกลับมายังสถาบัน ซึ่งทางคณะผู้บริหารมิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด โดยขณะนี้ได้มีการสั่งการให้มีการดำเนินการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และจรรยาบรรณของบุคลากรสถาบันต่อไป
อธิการบดี และสถาบัน ขอเน้นย้ำจุดยืนที่จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสนับสนุนการให้เสรีภาพทางวิชาการ ในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของประเทศไทย และส่งเสริมความคิดเห็นที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยจะไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนความคิดเห็นใด ๆ ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกของกลุ่มคนในสังคมและประเทศชาติ
สำหรับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2509 เนื่องจากทรงเห็นว่า การพัฒนาประเทศในขณะนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยกันพัฒนาดังพระราชปรารภที่ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องผลิตผู้เชี่ยวชาญสถิติ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อได้ก่อตั้งสถาบันขึ้นแล้วตามพระราชดำริ สถาบันได้กำหนดตราสัญลักษณ์ของสถาบันเป็นรูปกงล้อคล้ายธรรมจักร ภายในดวงตราสัญลักษณ์มีรูปคบเพลิง 8 อัน สื่อความหมายถึง มรรคแปด ซึ่งหมายถึงหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่ใช้เป็นแนวทางไปสู่การพ้นทุกข์ด้วยการใช้ปัญญา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงเห็นสมควรใช้แนวทางของมรรคแปด มาเป็นกรอบแนวคิดของปรัชญาที่พึงยึดถือสำหรับการทำงานของบุคลากรของสถาบัน