ธปท.อัด 3.5 แสนล้านบาทอุ้มเอสเอ็มอี?!?ปรับเงื่อนไขกู้ซอฟท์โลน-พักทรัพย์พักหนี้ คาดประคองกิจการ 2 ปี

1964

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้ สถาบันการเงิน ยื่นคำขอสินเชื่อ ตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ 2 มาตรการได้แก่ สินเชื่อฟื้นฟู(Softlone) และ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท เริ่มเลยตั้งแต่วันนี้ 26 เม.ย.2564 และย้ำว่ามาตรการทางการเงิน ไม่อาจเยียวยาปัญหาโควิด-19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่จะช่วยพยุงธุรกิจ ให้ก้าวข้ามวิกฤติโรคระบาดไปได้ คาดว่าจะสามารถประคับประครองธุรกิจเอสเอ็มอีได้ 2 ปี

ทางด้านธนาคารพาณิชย์ขานรับเต็มที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ธปท.ต่ออายุมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยเจอพิษโควิดระลอก 3 ช่วงครึ่งปีหลัง แบงก์เอกชนเร่งสำรวจความต้องการใช้ “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้”พบว่าเอสเอ็มอีต้องการสภาพคล่องมากขึ้น แบงก์กสิกรฯจะเริ่มปล่อยกู้สินเชื่อฟื้นฟูได้ในเดือน พ.ค. ส่วนการพักทรัพย์ พักหนี้เริ่ม มิ.ย. ด้านแบงก์กรุงเทพหนุนสินเชื่อฟื้นฟูลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ยังไม่เคยได้ซอฟต์โลน เป็นต้น

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ 1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และ 2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564

นายรณดล กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้เตรียมความพร้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปสู่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยขอให้สถาบันการเงินรับคำขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตั้งแต่ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีผลบังคบใช้ โดยลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ธปท. www.bot.or.th และติดต่อสถาบันการเงินให้ใช้บริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหารือกับผู้ให้บริการทางการเงิน สมาคม ชมรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยผ่านมาตรการการให้ความช่วยเหลือ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับเกณฑ์มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ ผู้ยื่นขอต้องมีคุณสมบัติตามที่ธปท.กำหนด

โดยนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่ามาตรการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ ลดผลกระทบต่อการจ้างงาน และฟื้นฟูการประกอบธุรกิจ 

โดยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ คือ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยที่มีสถานประกอบการ และ ประกอบธุรกิจในไทยเป็นลูกหนี้เดิม ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท และ ไม่เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ 31 ธ.ค. 62 หรือ เป็นลูกหนี้ใหม่ ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่งรวมถึงต้องไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยกเว้น ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ รวมถึงต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

ส่วนวงเงินที่ได้รับสินเชื่อหากเป็นลูกหนี้เดิม จะขอกู้ได้ไม่เกิน30% ของวงเงินในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท จากเดิมขอกู้ได้ 20%  หากเคยได้รับสินเชื่อ Soft loan ให้นับรวมด้วย ขณะที่ลูกหนี้ใหม่สามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน

ทั้งนี้มีระยะเวลาให้สินเชื่อ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน5% ต่อปี โดย 6 เดือนแรก รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ และ 2 ปีแรกของสัญญาให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี โดยสถาบันการเงินจะต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมถึงดอกเบี้ยผิดนัดในช่วง 5 ปี

ด้านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset  Warehousing) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีทรัพย์สินที่สามารถตีโอนชำระหนี้ได้และมีศักยภาพให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราวไม่ถูกกดราคาสินทรัพย์และ มีโอกาสในการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้การเข้ากลไกต้องเป็นความสมัครใจทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยมีสถานประกอบการ และ ประกอบธุรกิจในไทย เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มี.ค.64 และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยทรัพย์ที่ใช้โอนมาตรการต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้นก่อน 1 มี.ค. 64

ด้านเงื่อนไขในสัญญาที่สถาบันการเงินจัดทำเพื่อรับโอนทรัพย์ตามมาตรการ ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์มีสิทธิซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา3-5 ปี นับแต่วันที่รับโอน เว้นแต่ได้รับแจ้งว่าจะไม่ใช้สิทธิ์เป็นหนังสือ ขณะที่ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์สามารถเช่ากลับเพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อได้ โดยแจ้งความประสงค์ภายใน 15 วันนับ สถาบันการเงินจะนำเงินค่าเช่าที่ได้รับหักจากราคาขายคืน หากผู้เช่าทำทรัพย์สินเสียหาย ชำรุด เสื่อมค่าอาจไม่ได้รับสิทธิในการซื้อคืน

นอกจากนี้หากมีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้น สิทธิซื้อคืนยังคงเดิม เว้นแต่ลูกหนี้ผิดสัญญาจนสถาบันการเงินยกเลิกสัญญา แต่ยังคงให้สิทธิลูกหนี้แสดงเจตนาว่าจะซื้อคืนภายใน 30 วัน ทั้งนี้หากโอนทรัพย์แล้วยังมีหนี้คงค้างให้สถาบันการเงินพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่ม

สำหรับราคาซื้อคืนต้องไม่เกินราคาที่สถาบันการเงินรับโอนบวกกับค่าใช่จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying Cost) ไม่เกิน 1% ต่อปี บวกกับค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจริง ลบค่าเช่าที่ได้รับจากลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ระหว่างสัญญา ทั้งนี้ธุรกรรมนี้จะได้รับยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์ ทั้งขาที่โอนให้สถาบันการเงินและขาซื้อคืนของลูกหนี้และเจ้าของทรัพย์

ธปท.สรุปว่า“การออกมาตรการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้ง ลดภาระหนี้ ประคองกิจการ รักษาการจ้างงาน ขณะที่สถาบันการเงินจะมีทางเลือกเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้ รวมถึงเป็นการจูงใจให้ปล่อยสภาพคล่องใหม่ได้เร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น”