Truthforyou

ฟังเสียงประชาชนหน่อย!? เปิดผลโหวตโพล จี้จุด เห็นด้วย “ล็อคดาวน์” อีกครั้ง ยอมรับความเจ็บปวด แต่โควิดต้องจบ!!

หลังจากที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับโควิด-19 ระลอก 3″ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,082 คน สำรวจวันที่ 16-22 เมษายน 2564

พบว่า ประชาชนมองว่าการระบาดระลอก 3 นี้มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 74.29 ทำให้ตื่นตระหนกและวิตกกังวลมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ร้อยละ 68.40 มองว่าระลอก 3 นี้มีความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 70.51 จะป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ ร้อยละ 83.90 มองว่ารัฐบาลน่าจะรับมือได้ ร้อยละ 39.19 โดยคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 3 เดือน จึงจะดีขึ้น ร้อยละ 50.58 และอาจจะมีการระบาดระลอก 4 ร้อยละ 58.89

จากผลการสำรวจประชาชนมองว่าการระบาดระลอกนี้รุนแรงขยายวงกว้างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา ถึงแม้จะเริ่มคุ้นชินกับสถานการณ์ แต่ก็ยังกังวลเรื่องการติดเชื้อและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการเชิงรุก การตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง และการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ การรับมือที่ล่าช้าเช่นนี้จึงกังวลว่าอาจจะมีการระบาดระลอก 4 ตามมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขวัญหทัย เชิดชู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 สายพันธุ์อังกฤษที่มีความรุนแรงและติดได้ง่ายขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตเหมือนช่วงต้นปี 2020 ทำไมจึงเกิดซ้ำกับคนไทยอีกครั้ง!! เราต้องปรับในมุมมองของกลุ่มผู้ลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาเลือกที่จะเดินทางหรือเลือกลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเยอะที่สุด ที่มี Mass Vaccination เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ไม่ได้เลือกไปในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย ต้องยอมรับว่าวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการวัคซีน COVID ที่หลงประเด็นของรัฐบาล พลาดเรื่องการจัดหาวัคซีน ดั่งคำพูดที่ว่า No Vaccine No Money น่าจะใช่ ซึ่งสอดคล้องกับผลโพลที่รัฐบาลน่าจะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ครั้งนี้ได้เพียง 39.19% และประชาชนไม่แน่ใจถึง 35.73% เมื่อไม่มีการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศให้เกิน 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ประเทศเราก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ และรายได้หลักของประเทศคือการท่องเที่ยว

เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะเปิดประเทศได้อย่างไร ยิ่งฉีดวัคซีนให้ประชากรช้าเท่าไร ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศมากเท่านั้น เสียหายมหาศาล

นอกจากนี้สถานการณ์โควิดล่าสุด ทำให้กทม. มีคำสั่งปิด 31 สถานที่ กำหนดเวลาเปิด-ปิด ห้าง ร้านอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ อย่างในเพจเฟซบุ๊กของสถานี Top News ได้เปิดโพลสำรวจความเห็นประชาชน ว่าอยากให้มีการล็อกดาวน์ เหมือนรอบแรกหรือไม่ พบว่าคนส่วนใหญ่ 88 % อยากให้มีการล็อกดาวน์ แม้จะส่งผลกระทบกับหลาย ๆ ธุรกิจ กลุ่มอาชีพ แต่การหยุดคนไม่ให้เดินทาง เท่ากับเป็นการลดการแพร่เชื้อ ทั้งนี้หากสามารถยับยั้งการติดเชื้อได้ภายใน 2 สัปดาห์ สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น

ถือเป็นความหนักใจที่รัฐบาล ต้องไตร่ตรองอีกครั้ง ถึงมาตราการในตอนนี้ ว่าเข้มข้นเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเสียชีวิตขึ้นหลัก 2 รอบแรก คือ เสียชีวิตวันเดียว 11 ราย

แม้กระทั่งทางด้านนพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชฯ ยังได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจีบนกุล” ตั้งกระทู้ถามรัฐ ที่แถลงว่ามีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพียงพอ แต่ทำไมยังมีคนรอเตียง แล้วเสียชีวิต ข้อความดังนี้

ดูข่าวทีวีศบค.บอกเหลือเตียงรับผู้ป่วยโควิดอีกกว่าสองหมื่นเตียง อ้าว…ทำไมดรามาอาม่าเกิดขึ้น ทำไมสามีคนไข้ที่ผมดูแลต้องรอเตียงที่บ้านมา 8 วันยังไม่ได้ สงสัยพวกหมอที่ชงข้อมูลขึ้นไปคงคิดว่ามีเตียงอะไร ที่ไหน ก็จะดูแลคนไข้โควิดได้เลย ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่แจ้งเป็นแสนเตียงเลยล่ะ โรงพยาบาลต่างๆ มีเตียงเช่นนี้อีกเยอะ

ขอทีเถอะพวกที่ไม่ได้ทำเวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยแล้ว แต่ไปปรนนิบัตินักการเมืองเพื่อหวังผล ให้ข้อมูลที่เป็นจริงและสอดคล้องกับศักยภาพการแพทย์ของประเทศไทย อย่าให้อายเจ้าหน้าที่ขนย้ายผู้ป่วยโควิดในรูปที่เขารบเคียงบ่าเคียงไหล่พวกเราหมอ พยาบาล และบุคลากรสนับสนุน อย่างเต็มกำลังความสามารถอยู่ ณ ขณะนี้เลย
#เอาจิตวิญญาณเพื่อผู้ป่วยคืนมา

ดังนั้นต้องยอมรับว่าโควิดระลอกนี้ ถือว่าวิกฤตอย่างเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องมีทางออกที่ดีกว่านี้ และจากโพลสำรวจหลาย ๆ แห่ง จะเห็นว่า ประชาชนเลือกที่จะกักตัว ยอมขาดรายได้ หยุดทำงาน หรือทำงานที่บ้านก่อน เพื่อช่วยให้สถานการณ์ของชาติดีขึ้น แม้จะเป็นทางออกที่มีปัญหาตามมาอีกมาก แต่เพื่อสกัดเชื้อโควิดได้ ก็ต้องทำ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชาชนมีความกังวล ที่ปรากฏข่าว การเดินทางมาจากต่างชาติ อย่างมีข่าว อินเดีย หนีโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทยนั้น ด้านนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้เปิดเผยแล้วว่า เมื่อเช้ามีการพูดคุยกันในที่ประชุม และมีรายละเอียดมาจากกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ว่า จะมีการเช่าเหมาลำเครื่องบินจากอินเดีย จะมีก็มีแต่ เดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีนำคนไทยขึ้นเครื่องบินกลับมาจากอินเดีย อีก 4 เที่ยวบิน เท่านั้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยเข้ามาเท่านั้น ส่วนคนต่างชาติในขณะนี้ให้ชะลอออกไปก่อน

Exit mobile version