การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อระบบสาธาณสุขและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล เยียวยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มที่รัฐบาลมีงบประมาณอยู่ 3.8 แสนล้านบาทอาจหมดไปกับการระบาดรอบนี้ แต่ความไม่แน่นอนของการระบาดยังมีอยู่ทั่วโลก จึงมีความเป็นไปได้ที่นายกฯอาจต้องพิจารณากู้เงินเพิ่มทะลุเพดานหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ในสถานการณ์ปกติที่ 60% ขณะที่ภาคเอกชนได้ขานรับมาตรการรับมือโควิดของรัฐบาลและสนับสนุนให้เตรียมงบฯให้เพียงพอในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เร่งแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงโดยเร็ว พร้อมเร่งกำหนดมาตรการรับมือผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยวันที่ 28 เม.ย. นายกรัฐมนตรี ได้เชิญภาคเอกชนหารือ อาทิ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดหาและกระจายวัคซีนของภาคเอกชน ภายหลังภาคเอกชนแสดงความประสงค์ในการจัดหาวัคซีนร่วมกับภาครัฐ เพื่อกระจายสู่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ทีมนักเศรษฐกิจแบงก์กรุงเทพ มองว่า มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเช่น โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือ “เราชนะ” โดยวงเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่เหลืออยู่กว่า 2.4 แสนล้านนั้น น่าจะเพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์โควิด ระลอก 3 ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับ 54% ยังมีเพดานกู้หนี้ได้อีกมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ รัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบต่อเนื่องเพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจสอดคล้องกับ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นถึงการระบาดของโควิดรอบใหม่ล่าสุดนี้ รัฐบาลอาจพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงนั้น ที่ผ่านมาการใช้เงินงบประมาณเพื่อการเยียวยาแต่ละรอบเฉลี่ย 1-1.2 แสนล้านบาทต่อเดือน ขณะที่วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เพียงพอสำหรับนำมาใช้ตามมาตรการเยียวยา 2 เดือนหากส่วนนี้ไม่เพียงพอ รัฐบาลยังมีเม็ดเงินในส่วนของงบประมาณปี 2564 อาทิ งบกลางสำรองสำหรับการใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็น ซึ่งอยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรีฯ 1.4 แสนล้านบาท จึงมองว่ายังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม
แต่สถานการณ์ล่าสุดได้เห็น วิกฤตการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็วเป็นลักษณะคลัสเตอร์ และยังมีคนจำนวนมากที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท การ์ดตก มีการเที่ยวเตร่ จับกลุ่มทำกิจกรรม ทั้งบันเทิง กีฬา พิธีศาสนาจนการกระจายเชื้อลามสู่ครอบครัวและเข้าถึงทุกระดับวัยแล้ว
ในขณะที่เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ฯ) ลดน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนงบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น และงบกลางฯโควิด ที่เคยมีอยู่รวมกันประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ก็ลดลงเหลือ 1.2 แสนล้านบาท โดยสำนักงบประมาณระบุว่าในส่วนของงบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินฯที่เหลืออยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จะนำมาใช้ในส่วนของโควิด-19 ได้เพียง 4 – 5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับเงิน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯที่เหลืออยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เงินที่จะใช้จ่ายในการเยียวยาประชาชนในการระบาดระลอกนี้คงเหลือไม่เกิน 3 แสนล้านบาท นี่เป็นตัวเลขที่น่าจะเป็นในวันนี้ 25 เม.ย.2564
มาดูค่าใช้จ่ายงบประมาณในการระบาดโควิดระลอกที่ผ่านมา มีการใช้วงเงินกู้ไปประมาณ 3 – 4 แสนล้านบาทในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน ในการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ผ่านมาช่วงปลายธ.ค.2563 – กลางเดือน พ.ค.2564
–โครงการเราชนะที่จ่ายเงินเยียวยาประชาชนรวม 33.5 ล้านคน คนละ 7,000 บาทจะใช้เงินไปถึง 2.13 แสนล้านบาท –โครงการ ม.33 เรารักกันวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และ-โครงการคนละครึ่งที่ใช้วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
รวมกันสามโครงการนี้จะเห็นว่าหากรัฐบาลจะทำแพคเกจเยียวยาประชาชนในลักษณะเดียวกันจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน นั่นเท่ากับว่าเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ และงบกลางฯที่เตรียมไว้รับมือกับโควิด-19 อาจจะหมดลงหลังการเยียวยาในรอบนี้
และความไม่แน่นอนของโควิด-19 ในกรณีหนักหรือ เวิร์สเคส(Worst Case)อาจเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นได้ในระลอกที่ 4 – 5 ทำให้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลต้องคิดใหม่ จากที่คาดว่างบฯพออาจมีความจำเป็นที่จะกู้เงินเพิ่มหรือไม่?
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยอมรับว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการในการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ออกมาเป็นแพคเกจ ซึ่งในรอบนี้อาจมีวงเงินที่เพียงพอที่จะใช้ แต่ในระยะต่อไปหากมีความจำเป็นรัฐบาลก็ต้องมีการกู้เงินเพิ่มซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องเตรียมพร้อมไว้ทุกสถานการณ์ และถือเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเตรียมเงินงบประมาณไว้ให้เพียงพอ หากเกิดการระบาดในรอบต่อๆไปขึ้นอีก
ด้านนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก็ยอมรับว่าการกู้เงินเพิ่มเติมนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมไว้รองรับวิกฤติเป็นเสมือน “กระเป๋าหลัง” ของรัฐบาลหากมีความจำเป็นจริงๆก็ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าในหลายประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็มีการกู้เงินเพิ่มเติมจนระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและมีหลายประเทศที่ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 100 – 150% ไปแล้ว ของไทยเรายังไม่ชนเพดานที่ตั้งไว้ 60% อาจต้องเตรียมพิจารณาใหม่
สำหรับเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ผ.อ.สำนักงบประมาณระบุว่า “ระดับดังกล่าวเป็นเพดานที่ตั้งไว้ในกรณีที่สถานการณ์ในประเทศปกติ แต่ใน 1 – 2 ปีนี้ สถานการณ์ไม่ปกติหากมีความจำเป็นก็ต้องขยับตรงนี้ออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์”