จุรินทร์ปลื้มเร่งฉีดวัคซีน-เศรษฐกิจโลกฟื้น!!ดันส่งออก 3 เดือนทะลุ 8.47%มูลค่ากว่า 7.5 แสนลบ.สูงสุดในรอบ 28 เดือน

1858

สนค.กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือน มีนาคม บวกต่อร้อยละ 8.47 เป็นเดือนที่ 4 มูลค่า 7.5 แสนล้านบาท แม้ทั่วโลกยังเผชิญการระบาดโควิดก็ตาม มั่นใจโอกาสตัวเลขส่งออกตลอดปีนี้ เป็นไปได้เกินกว่าร้อยละ 4 แน่นอนนั่นหมายถึงมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะมีรายได้จากส่งออกตลอดปีนี้ถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7.56 ล้านล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค.64 อย่างเป็นทางการเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยสามารถทำตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่งถึง 750,000 ล้านบาท ขยายตัวถึง 8.47% และหากไม่นับรวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะขยายตัวสูงถึง 12% ซึ่งสะท้อนว่าการส่งออกของไทยยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และด้านการท่องเที่ยว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค.2564 ส่งออกของไทยมีมูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัว 8.47% จากเดือน มี.ค.63 เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 28 เดือนนับจากเดือน พ.ย.2561 

เมื่อหักมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำที่มีความผันผวนด้านราคา และอาวุธยุทธปัจจัยออก จะขยายตัวสูงถึง 11.97% สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) 

ส่วนเมื่อคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 719,050 ล้านบาท ขยายตัว 4.05% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,511.65 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 14.12% คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 708,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.52% เกินดุลการค้า 710.80 ล้านเหรียญฯ หรือเกินดุล 10,955 ล้านบาท

สาเหตุที่มูลค่าการส่งออกไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัจจัยภายนอกคือเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น จากแรงสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก ส่วนปัจจัยภายในทั้งภาครัฐและเอกชนไทยร่วมมือกันผลักดันในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันสูงขึ้น ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งทาง สนค.ประเมินว่า การส่งออกไทยปีนี้ น่าจะเป็นบวกได้ต่อเนื่อง และตัวเลขทั้งปีน่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4%.

หลังจากประเทศต่างๆเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง  ส่งผลทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ  เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี  สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า  โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรปและกลุ่มอาเซียน

โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารสดและเกษตรของไทยหลายตัวยังมีความต้องการของตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ถุงมือยางที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นส่งผลดีกับราคายางพาราของไทยในช่วงนี้ดีขึ้นด้วย รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเริ่มส่งออกได้มากขึ้น และแม้ว่าทั้งโลกรวมถึงไทยเจอปัญหาโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ก็ตาม

แม้ว่าในช่วงนี้การส่งออกจะได้รับผลกระทบด้านการขนส่งขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า  แต่เวลานี้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลาย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง  ดังนั้น สนค.ยังคงมองว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 64 ยังจะบวกได้ร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทย 7.561 ล้านล้านบาท