Truthforyou

บิ๊กตู่ถกเครียดทีมเศรษฐกิจ!?!เตรียม 3.8 แสนลบ.ดูแลทุกกลุ่ม ยัน “เราชนะ” มาแน่รอบนี้ไม่ต้องแย่ง ขณะเอกชนพร้อมหนุนกระจายวัคซีน

นายกฯได้หารือทีมเศรษฐกิจหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิดระลอกใหม่ โดย โดยเร่งเดินหน้าออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนพ.ค. ทั้งมาตรการเก่า-ใหม่ หนุนบริโภค เผยรัฐบาลมีงบ 3.8 แสนล้านบาทพอเยียวยารอบนี้ ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม ในขณะเดียวกันทางกกร.ซึ่งเป็นองค์กรนำภาคเอกชนซึ่งเป็นที่รวมของนักธุรกิจ ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้ประชุมร่วมกันเสนอตัวเป็นผู้ช่วยจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมและช่วยกระจายให้ทั่วถึง ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจที่ดี คาดว่าทางรัฐบาลคงไม่ขัดข้องและจะเร่งเดินหน้าตามเป้าหมายทันที

 

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจหารือมาตรการทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ร่วมหารือมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกและทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

โดยนายกฯยืนยันโครงการ “เราชนะ” จะดำเนินการต่อและมาตรการที่จบไปแล้วจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ซึ่งจะได้คำตอบโดยเร็วที่สุด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหางบประมาณสำหรับดำเนินแต่ละมาตรการ และจะพยายามจัดหางบประมาณให้เพียงพอในสถานการณ์ขณะนี้

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยการระบาดในรอบนี้คาดว่าคลี่คลายใน 2 สัปดาห์ เพราะแต่ละหน่วยงานมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดในรอบที่ผ่านมาแล้ว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และ สศช.เพื่อจัดทำมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะออกมาเป็นแพ็คเกจได้ในเดือน พ.ค.2564 และมีผลเริ่มให้ประชาชนใช้ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยชุดมาตรการจะมีทั้งมาตรการใหม่และการต่ออายุมาตรการเดิม ได้แก่

1.โครงการสนับสนุนให้ประชาชนนำเงินออมออกมาใช้ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่นำมาใช้เพราะปัจจุบันประชาชนมีเงินออมกว่า 5 แสนล้านบาท และกระทรวงการคลังคิดมาตรการออกมาแล้ว โดยจะเริ่มใช้เดือน มิ.ย.นี้ 

2.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3

3.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 

นอกจากนี้ มาตรการอื่นในลักษณะการจ่ายเงินเยียวยาจะพิจารณาต่ออายุ เช่น โครงการเราชนะสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ โครงการเรารักกันสำหรับผู้ประกันตน ม.33 โดยได้หารือว่าสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์อาจต่ออายุออกเพื่อไม่ให้ประชาชนแย่งกันลงทะเบียน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า“มาตรการที่จะออกมาในรอบนี้จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท นั้นยังเพียงพอที่จะใช้ในการเยียวยาและทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะนี้ยังมีเงินเพียงพออยู่ โดยมาตรการจะได้ใช้ในเดือน มิ.ย.แต่ประชาชนจะทราบก่อนในเดือน พ.ค.นี้” ส่วนมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลภาคธุรกิจ ใช้โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน โดยถือเป็นมาตรการที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนอยู่แล้ว 

 

ด้านภาคเอกชนมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เผยท่าทีพร้อมสนับสนุนรัฐบาลด้านการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมและกระจายให้ถึงประชาชนเร็วที่สุด

หอการค้า เผย 40 บริษัท พร้อมซื้อวัคซีน 1 ล้านโดส เล็งจาก 4 ประเทศ รอรัฐบาลไฟเขียวให้เอกชนนำเข้า กรณีนี้นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยหารือกับ CEO บริษัทใหญ่ 40 แห่ง ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชนและการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ 

สำหรับซีอีโอที่ร่วมประชุมครั้งนี้ เช่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ,นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ,นางศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ‘นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ,นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

จากการหารือ 40 บริษัท พร้อมซื้อวัคซีน 1 ล้านโดสโดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองเพื่อฉีดให้พนักงานและครอบครัว 5 แสนคน และยังมีภาคเอกชนแจ้งความจำนงต้องการซื้อวัคซีนเองอีก 10 ล้านโดส

ดังนั้นหอการค้าไทยจะเป็นศูนย์กลางประสานผู้ที่ต้องการซื้อวัคซีนทางเลือก โดยมีนายกลินท์ สารสิน อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ทำงานร่วมกับคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนทางเลือกป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ส่วนการดูแลวัคซีนเมื่อซื้อมาแล้วไม่ต้องกังวล เพราะเอกชนพร้อมดูแลและกระจายวัคซีน โดยสนับสนุนสถานที่ บุคลากร ระบบขนส่ง ระบบเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกจังหวัดฉีดได้ แต่เรื่องเร่งด่วน คือ การหาวัคซีนเนื่องจากไทยฉีดวัคซีนเพียง 0.4% ของประชากร ล่าช้ามาก ซึ่งถ้าจะเปิดประเทศต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชากร

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  เปิดเผยว่า กกร. มีความเป็นห่วงเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้าน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือ 

  1. คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์   การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น 
  2. คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน 
  3. คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และ 
  4. คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส และขอให้ อย. ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น
Exit mobile version