วิกฤตยูเครนใกล้เดือด เมื่อการปะทะที่แนวหน้าและ ความแข็งกร้าวด้านการทูตปะทุต่อเนื่องระหว่าง รัสเซียกับยูเครนและสาธารณรัฐเช็กถึงระดับตะเพิดทูตออกจากประเทศ ล่าสุดฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ได้กระจายข่าวอย่างตื่นเต้นว่า รัสเซียระดมกำลังพลกว่า 150,000 นาย วางกำลังตามแนวชายแดนยูเครนและในคาบสมุทรไครเมีย ส่วนด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่าส่งมิก-31 ขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐและนอร์เวย์ ที่ทะเลแบเรนต์ เป็นการส่งสัญญาณกร้าวจากรัสเซียถึงสหรัฐและนาโต้ว่า เมื่อเตือนไม่ฟังก็พร้อมชนในทุกสมรภูมิ
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 เม.ย.2564 โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียูเปิดเผยว่า ภายหลังรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้รับฟังรายงานสรุปจากรัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนว่า “มีทหารรัสเซียมากกว่า 150,000 นายรวมตัวกับบริเวณชายแดนยูเครนและในไครเมีย” เขากล่าวโดยปฏิเสธจะบอกว่าได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวใด และเตือนว่า จำนวนดังกล่าวเป็นการวางกำลังทหารจำนวนมากที่สุดของรัสเซียที่ชายแดนยูเครน เป็น”ความเสี่ยงของการยกระดับเพิ่มขึ้นนั้นปรากฏชัด”
กองทัพรัสเซียอ้างว่ากำลังฝึกซ้อมทางทหารบนชายแดนด่านหน้าของรัสเซียเพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของกองกำลังนาโตที่ “คุกคามรัสเซีย”
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดในช่วงเวลาที่การปะทะระหว่างยูเครน เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย กับกบฏแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซีย ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อความหวั่นเกรงว่าจะเกิดการสู้รบเป็นวงกว้างในยูเครนอีกครั้ง
เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กองทัพ 2 กองทัพและหน่วยส่งทางอากาศ 3 หน่วยประสบความสำเร็จในการวางกำลังที่ชายแดนฝั่งตะวันตกของรัสเซีย และการฝึกซ้อมทางทหารจะยุติลงภายใน 2 สัปดาห์นี้
นอกจากนี้ ซอยกูได้กล่าวเสริมว่ารัสเซียเคลื่อนกองกำลังเข้าประชิดพรมแดนฝั่งตะวันตก เพราะถูกนาโตข่มขู่ปฏิบัติการทางทหาร หลังจากนาโตเคลื่อนกองกำลัง 40,000 นาย และอาวุธยุทโธปกรณ์อีก 15,000 ชิ้นเข้ามาใกล้พรมแดนรัสเซียก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในทะเลดำและภูมิภาคบอลติก
ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมการป้องกันแห่งชาติ (เอ็นดีซีซี) ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เปิดเผยในวันจันทร์ที่ 19 เม.ย.2564 ที่ผ่านมาว่า เรดาร์ของรัสเซียตรวจพบเป้าหมายทางอากาศ 2 เป้าหมาย กำลังเคลื่อนเข้าหาพรมแดนรัสเซียเหนือน่านน้ำในทะเลแบเรนต์ จึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ มิก-31 ขึ้นสกัดกั้น เพื่อป้องกันการละเมิดพรมแดนของรัสเซีย และบังคับให้เครื่องบิน 2 ลำนี้บินกลับไป ซึ่งประสบความสำเร็จ
ลูกเรือของเครื่องบินมิก-31 ระบุเป้าหมายทางอากาศทั้ง 2 ว่าเป็นเครื่องบินลาดตระเวน อาร์-8เอ โพไซดอน ของกองทัพเรือสหรัฐ และเครื่องบินลาดตระเวนอาร์-3ซี โอไรออน ของกองทัพอากาศนอร์เวย์
ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวทางการทูตที่ไม่ราบรื่นระหว่างรัสเซียและยูเครนและสาธารณรัฐเช็กก็เป็นเงื่อนไขให้ความตึงเครียดในภูมิภาคนี้เพิ่มดีกรีร้อนแรงยิ่งขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2564 รัสเซียสั่งขับนักการทูตยูเครนรายหนึ่งเพราะถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าพยายามหาข้อมูลลับของรัสเซีย และยูเครนขับนักการทูตรัสเซียตอบโต้
อีกด้านสาธารณรัฐเช็กสั่งขับนักการทูตรัสเซีย 18 คน อ้างพัวพันสายลับรัสเซียวางระเบิดคลังแสงเมื่อปี 2557ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆไร้หลักฐานและตอบโต้โดยขับทูตสาธารณรัฐเช็กทันที 20 คน
และแน่นอนความตึงเครียดที่ยกระดับขึ้นในย่านนี้เกิดหลังจาก พฤติกรรมเสี้ยมให้รบของสหรัฐ เรื่องนี้ทำเนียบขาวแถลงเองเลย โดยเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.2564 ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนแล้ว และไบเดนได้ย้ำว่า สหรัฐสนับสนุนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของยูเครนอย่างหนักแน่น ในช่วงยามที่เผชิญการรุกรานของรัสเซียในภูมิภาคดอนบาสและไครเมีย
พฤติกรรมแบบเดียวกับที่ให้สัญญากับประเทศพันธมิตร-บริวารในภูมิภาคอื่นๆ สหรัฐใช้สูตรเดียวกันที่ใช้ได้ผลมาตลอด ใครไม่ยอมทำตามความต้องการของสหรัฐจะต้องพบกับการต่อต้าน แตกแยก และสงครามทำลายล้าง อย่างเป็นระบบพร้อมทั้งระดมพันธมิตรรุมยำทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหารอย่างเปิดเผยภายใต้เหตุผลเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยแบบสหรัฐ
ความขัดแย้งทางการทูตระหว่างรัสเซียกับยูเครนล่าสุดเกิดในช่วงยามที่รัสเซียกำลังตกเป็นเป้าหมายโจมตีทางการทูตของสหรัฐและพันธมิตรชาติตะวันตก ป้ายหน้าผากรัสเซียว่ามีพฤติกรรมปรปักษ์ โดยสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐได้สั่งขับนักการทูตรัสเซีย 10 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2563 ทั้งๆที่ฝ่ายชนะคือโจ ไบเดนผู้ที่แสดงความเป็นปรปักษ์กับรัสเซียอย่างออกนอกหน้า ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการขับนักการทูตสหรัฐและแซงก์ชันเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงหลายราย
ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การปะทะกันที่แนวหน้าได้ทำลายข้อตกลงหยุดยิงและเพิ่มความกลัวว่าความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก ที่กองทัพของรัฐบาลยูเครนสู้รบกับกบฏแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซีย จะขยายความรุนแรงขึ้น
ที่ผ่านมา ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของทำเนียบเครมลิน แถลงที่มอสโกเมื่อวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.2564ว่า รัสเซียถูกบีบให้โต้ตอบหากสหรัฐส่งทหารเข้ามายูเครน และไม่ต้องสงสัยเลยว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใกล้ชายแดนรัสเซีย แน่นอนว่า สิ่งนี้จะเรียกร้องให้รัสเซียดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาความมั่นคงของตนอย่างถึงที่สุด
เปสคอฟยืนกรานว่ารัสเซียไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อคุกคามยูเครน “รัสเซียไม่ได้กำลังคุกคามใคร และไม่เคยคุกคามใคร”