ส่งออกยางพาราไทยบูมสวนโควิด!?! รัฐหนุนชาวสวนได้เงินประกัน เอกชนหวั่นมาตรการชะลอขายยาง ทำเสีย“ค่าโง่”

1944

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาคมยางพาราไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการยางพาราได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น เนื่องจากตลาดดังกล่าวเริ่มฟื้นตัวจาก COVID-19 ประกอบกับมีความต้องการนำยางพาราไปผลิตยางล้อรถยนต์และถุงมือยางเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นช่วงหยุดกรีดยาง ทำให้ผู้ประกอบการขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออก แต่คาดว่าหลังช่วงเปิดกรีดยางในเดือนพฤษภาคม 2564 จะส่งออกได้มากขึ้น และราคายางจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 50-70 บาท จากปัจจุบันที่ราคายางอยู่เหนือกิโลกรัมละ 60 บาท ทั้งนี้ สำหรับทั้งปี 2564 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางพาราของไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20%

 

สภาพการณ์โดยรวมมีแนวโน้มเป็นบวก และมาตรการดูแลจากรัฐบาลก็ยังดำเนินต่อไป ล่าสุดความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564 รอบแรกได้มีการเคาะจ่ายส่วนต่าง “ประกันราคายาง” ซึ่งผ่านมา 5 งวดแล้ว นั้น

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิงในการประกันรายได้ตามชนิดยางและอัตราค่าชดเชยรายได้ (ระยะที่2) ทางคณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง งวด6 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย  ชดเชยส่วนต่าง “ประกันราคายาง” ประจำเดือนมีนาคม คาดว่าจะมีการเคาะราคา ยาง 3 ชนิด ในวันที่ 22 เมษายน 2564 นี้

สำหรับหลักเกณฑ์นั้นจะเป็นไปตามโครงการระยะที่ 1 โดยเป็นการประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ 

1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม

2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม

3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “เกษตรกรชาวสวนยาง” ใครปิดกรีดยาง “โครงการประกันรายได้ยางพารา” ระยะที่ 2 ก็ยังคงชดเชย ต่อเนื่อง  ส่วนใครที่มีปัญหา ยังไม่ได้รับเงิน ไม่ว่ากรณีใดก็แล้วแต่ยังมีเวลาที่จะได้รับการโอนเงิน จนถึง 30 กันยายน 2564

เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ กยท.สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่2  ได้ที่ลิงค์  http://www.rubber.co.th/gir/index/ ทั้งนี้ เกษตรกรยางพารา ชาวสวน สามารถ ตรวจสอบสถานะการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แบบอัพเดทได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ https://chongkho.inbaac.com/

ขณะที่ปีนี้ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกต่างออกมารายงานแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสดใส รวมทั้งอุตสาหกรรมยางพาราไทย โดยเฉพาะถุงมือยางมียอดสั่งซื้อยาวถึงปี 2566  น่าจะสะท้อนแนวโน้มราคายางทุกชนิดควรดีเสมอกันด้วย แม้ว่าในปีที่ผ่านมาประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยในอุตสาหกรรมยางพารา มีการชะลอตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา ทำให้ประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราขั้นพื้นฐานรายใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้รับผลกระทบโดยตรง และส่งผลถึงทั้งห่วงโซ่การผลิตยางพาราเพื่อการส่งออก แต่สรุปการส่งออกโดยรวมก็เป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่คาด 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ไม่คงที่ ส่งผลให้จุดรับซื้อยางพาราหยุดรับซื้อในบางช่วง  มีผลทำให้ราคายางพาราในประเทศลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทางการยางฯได้ริเริ่มเสนอโครงการชะลอการขายยางขึ้น ซึ่งมีการดำเนินการตัังแต่ปลายปีที่แล้วและมองว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะผลักดันให้ดำเนินการต่อเนื่อง เรื่องนี้มุมมองของผู้ซื้อคือบริษัทเอกชนมองต่างไป

นายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงได้เสนอโครงการชะลอการขายยาง นำร่องดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบันทั้งนี้เพื่อ 1.ชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเพื่อลดความผันผวนนของราคายาง 2.เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบัน เกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิต 

สำหรับ “โครงการชะลอการขายยาง” กระบวนการเริ่มตั้งแต่ให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสถาบันเกษตรกร รวบรวมยางพาราแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.เข้าตรวจสอบ ปริมาณ ผลผลิต ชนิดและคุณภาพยางที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นก็ให้สถาบันเกษตรกรเก็บยางให้ครบจำนวนตามที่ขอรับสินเชื่อจาก กยท. (ใช้เงินมาตรา 49(3) ซึ่งการกำหนดราคาสินเชื่อจะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน อ้างอิงราคาตลาดกลางยางพารา

ระหว่างเข้าร่วมโครงการหากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางนำยางที่จัดเก็บตามที่ระบุจำนวนไว้เมื่อรับเงินสนับสนุนสินเชื่อไปขาย โดยเป็นการขายผ่านตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพารา กยท.จะหักสินเชื่อกลับเข้าโครงการโดยคำนวณจากปริมาณที่ขายคูณด้วยราคายางที่ได้รับสนับสนุนสินเชื่อตามหลัก First in First Out และ กยท.จ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แก่สถาบันเกษตรกร แต่หาก กยท.ตรวจสอบแล้วปริมาณไม่ครบตามจำนวน สถาบันเกษตรกรจะเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย ว่า โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ มีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการและได้รับสินเชื่อแล้วจำนวน 5 สถาบัน  ปริมาณยางก้อนถ้วยแห้ง DRC 75% จำนวน 15,447.50 ตัน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 85,730,472 บาท จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยสามารถชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด และลดความผันผวนราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอการขายผลผลิต 

ดังนั้นจึงเตรียมเดินหน้าโครงการต่อโดยจะนำเรื่องเข้าบอร์ด กยท.ปลายเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้ทันเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นฤดูการเปิดกรีดยาง จะครอบคลุมทุกชนิดยาง ได้แก่ น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางสด เพื่อให้ราคายางสะท้อนความเป็นจริง เกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้เงินเข้ากระเป๋ามากขึ้น 

ทางด้านฝั่งเอกชนมองต่างมุมว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียจะส่งผลต่อเกษตรกรโดยตรง

นายกรกฎ  กิตติพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวหากเก็บยางไว้แล้วราคาลดลง ใครรับผิดชอบ เบื้องต้นมองว่าไม่สามารถการันตีได้ว่าราคายางจะขึ้น การที่ กยท.นำมาตรการนี้ออกมาใช้คงเกรงว่าผลผลิตจะทะลัก ทำให้ราคาตก การเก็บและชะลอขายซึ่งอาจช่วยได้หากเศรษฐกิจโลกฟื้น และมีความต้องการที่แท้จริง ผลผลิตยางโลกขาด นโยบายนี้ทำออกมาก็มีโอกาสที่จะสำเร็จ

ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป กล่าวว่า ระวังเสียค่าโง่จากการชะลอการขายยาง โดยให้เกษตรกรเก็บยางเพื่อรอราคาสูงแล้วขาย ซึ่งก็มีความเสี่ยงหากเก็บไว้ราคายิ่งต่ำลงๆ เกษตรกรรับขาดทุนไหวแค่ไหน อีกด้านหนึ่งลูกค้ามีทางเลือก หากไทยไม่ขายก็จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซียเมียนมา กัมพูชา และอื่นๆ 

มองว่าเป็นมาตรการทำให้ติดกับดักตัวเอง หรือเรียกว่า ขุดหลุมฝังตัวเอง เพราะเมื่อผู้ซื้อทราบว่าไทยมีสต๊อกมากจะบีบให้ต้องขายถูก เกษตรกรเก็บของไว้มากก็จะถูกบังคับขาย สุดท้ายไม่มีเงินใช้ เรียกว่าผีถึงป่าช้า ถึงสุสานก็ต้องเผา ต้องฝัง

ที่สำคัญสินค้ายางพาราของไทยไม่เหมาะที่จะเก็งกำไร เพราะมุ่งเน้นตลาดซื้อขายจริง ไม่ใช่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายกระดาษเพื่อเก็งกำไรมาก ยกตัวอย่างน้ำยางสด เก็บไว้ 7 วัน น้ำยางก็เน่าแล้ว จะไปขายใคร หรือน้ำยางข้นเก็บไว้ 3 เดือน ไม่ขายใคร ค่าของน้ำยางเปลี่ยน โรงงานปลายน้ำก็ใช้ไม่ได้ ยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน ก็เช่นเดียวกัน โรงงานยางรถยนต์ก็ใช้ไม่ได้เช่นเดียวกัน

มุมของของเอกชนน่าคิด  ชาวสวนยางคงต้องรอลุ้นว่า โครงการ/มาตรการชะลอการขายยาง ที่ กยท. จะคิกออฟ จะตอบโจทย์เพิ่มเงินในกระเป๋าได้หรือไม่ หรือจะเป็นไปตามที่ผู้ส่งออกเตือน “ระวังเสียค่าโง่” แต่ที่แน่ๆ 22 เม.ย.นี้เตรียมรับเงินค่าประกันไปก่อนและลุ้นว่าจะได้ราคาสูงสุดกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัมหรือไม่?