จตุพรอ่วมหนักโดนหมายเรียก3ข้อหา! 4แกนนำทะลุฟ้าเจอ2ข้อหาม็อบช่วงสงกรานต์

3097

จากการชุมนุมของม็อบช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นห้วงเวลาที่คนไทยพากันวิตกกังวลเพราะไวรัสโควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ต้องช่วยกันดูแลความปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ปรากฏมีกลุ่มคนยังชุมนุม ซึ่งก็ต้องถูกดำเนินคดีไม่ให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี!?!

โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  ออกมาเปิดเผยถึงกรณีว กลุ่ม UNME of Anarchy (หมู่บ้านทะลุฟ้า) ประกาศนัดหมายทางโซเชียลมีเดียจัดกิจกรรมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ วันที่ 15 เมษายน เวลา 15.00-16.00 น. และมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาทำกิจกรรมประมาณ 50 คน และในขณะที่ได้มีการชุมนุม ได้มีประกาศตักเตือนของตำรวจว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้นเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย

1.การร่วมกันชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับ ความมั่นคง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.การกระทำใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ที่เป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นการกระทำความผิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 20) ข้อ 3 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมา สน.นางเลิ้ง มีการรับคำร้องทุกข์ ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่มาร่วมชุมนุมและมีการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ทั้งหมด 4 คน ซึ่งเป็นแกนนำและนำกลุ่มมวลชนผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุม ซึ่งทาง สน.นางเลิ้ง จะออกหมายเรียกกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 เพื่อเข้ามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว วันที่ 26 เมษายน เวลา 13.00 น.

ทั้งนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ถ้าหากมีการนัดหมายให้มาทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามในห้วงระยะเวลานี้ เป็นสภาวะโควิดและมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นอย่างสูง หากผู้ใดชักชวนประชาชนให้มาทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม จะดำเนินคดีกับผู้ที่ชักชวน และมาร่วมชุมนุมทุกราย รวมถึงผู้สนับสนุนไม่ว่าทางหนึ่งทางใด รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนให้มีการชุมนุม เช่น ให้บริการรถสุขา เวที เครื่องขยายเสียง ถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิด กรณีดังกล่าวทาง สน.นางเลิ้ง กำลังทำการตรวจพิสูจน์ตัวบุคคลผู้ร่วมกระทำผิดเพิ่มเติม ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถพิสูจน์ทราบว่าเป็นผู้ใดแล้ว จะต้องถูกดำเนินคดีทุกรายโดยไม่มีข้อยกเว้น

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ 18 เมษายน ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล  ได้ชี้แจงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ หรือ นปช. ช่วงที่ผ่านมาว่า ตามที่กลุ่มสามัคคีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้จัดให้มีการชุมนุมที่บริเวณ อนุสรณ์อนุสรณ์สถานพฤษภา 35 สวนสันติพร เมื่อวันที่ 4, 5 และ 7 เมษายน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดและประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นั้นกรณีดังกล่าว สน.ชนะสงคราม ได้ดำเนินคดีกับแกนนำ ผู้ที่ขึ้นปราศรัย ในแต่ละวัน แยกเป็นคดีๆ ไป รายละเอียด ดังนี้

 

การชุมนุมวันที่ 4 เมษายน ดำเนินคดีนายจตุพร กับพวก รวม 18 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดให้มาพบในวันที่ 15-16 เมษายน ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดได้ขอเลื่อนการเข้าพบเป็นวันที่ 13-14 พฤษภาคม พนักงานสอบสวนรับทราบการขอเลื่อนการเข้าพบแล้ว

การชุมนุมวันที่ 5 เมษายน ดำเนินคดีนายจตุพร กับพวก รวม 14 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดให้มาพบในวันที่ 26 เมษายน

การชุมนุม วันที่ 7 เมษายน ดำเนินคดีนายจตุพร กับพวก (อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลให้ครบถ้วน) ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจะได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบในวันที่ 29 เมษายน  บช.น. จะได้ชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินคดีให้ทราบต่อไป