Truthforyou

’64 ปีทองอุตฯยางพาราไทยฮอตสวนโควิด!?!น้ำยางข้นตัวชูโรงในประเทศ-ต่างประเทศ ถุงมือยางยอดจองยาวถึงปี66

ท่ามกลางความยากลำบาก ช่องทางการทำมาค้าขายของไทยยังมีโอกาสดีเกิดขึ้น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ก่อวิกฤตซ้ำในทุกหนแห่ง ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ระบุว่าก่อนเกิดโควิด ความต้องการถุงมือยางโลกเติบโตปีละประมาณ 10% แต่ปีที่ผ่านมา โตขึ้นกว่า 20% และคาดว่าปีนี้ความต้องการจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้ายางพาราไทย ประสานเสียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า ปี2564 นี้ เป็นปีทองของอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย และ น้ำยางข้นจะเป็นตัวชูโรงสร้างรายได้ให้กับทุกฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางอยู่ในวัฎจักรขาขึ้น ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 

สำหรับหน่วยงานภาครัฐ: นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19  ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะโรงงานผลิตถุงมือยาง ที่ตอนนี้มีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีการใช้น้ำยางข้นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือประมาณ 3-4 แสนตัน จากเดิมที่ใช้อยู่ 1-2 แสนตัน

ขณะที่ความต้องการ ถุงมือยางทั้งโลกในปี 2563 ประมาณ 3.3 ล้านชิ้น และความต้องการปี 64 มีมากถึง 4.2 ล้านชิ้น ทำให้โรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของประเทศต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดถุงมือยาง 

 

ทั้งนี้ การส่งออกถุงมือยางเมื่อปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 72,680.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 95% และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับสองของโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดประมารณ 18% หรือ 47,000 ล้านชิ้น ขณะที่มาเลเชียครองส่วนแบ่งตลาด 60%

นายณกรณ์กล่าวเสริมว่า “จากแนวโน้มความต้องการน้ำยางข้นของโลก ทำให้ทราบว่าในปีนี้ปริมาณการใช้น้ำยางข้นในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จึงไม่ค่อยจะห่วงในเรื่องปริมาณความต้องการน้ำยางข้น สำหรับผลผลิตน้ำยางข้นทั้งประเทศ ปีนี้จะมีประมาณ 1 ล้านตัน โดยส่วนหนึ่งจะส่งไปจีนและมาเลเซีย ที่ผ่านมาเราใช้เองไม่มากประมาณ แสนกว่าตัน แต่คราวนี้ ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว 3-4 แสนตัน 

ในปีนี้สถานการณ์ยางพาราจะเป็นไปด้วยดี จึงคาดว่าในอนาคตโรงงานผลิตถุงมือยางจะเปลี่ยนมาใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์แต่มีกำไรสูงกว่า ดังนั้น โรงงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้น้ำยางข้นหรือน้ำยางธรรมชาติมากกว่ายางสังเคราะห์ เพราะกำไรและราคามันห่างกันเยอะ ถ้าเปลี่ยนมาใช้ยางธรรมชาติ โอกาสในการทำกำไรก็จะเห็นมากขึ้น”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับยางพาราไทยปี 2564ว่า น้ำยางข้นว่าจะเป็นตัวชูโรง เนื่องจากน้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยาง สำหรับในระยะถัดไปน้ำยางข้นน่าจะยังมีศักยภาพต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแง่ที่หันมาใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้นในระยะยาว สำหรับในระยะถัดไปอีกคือ ในช่วงปี 2563-2570 คาดว่า มูลค่าตลาดถุงมือยางของโลกจะยังขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.6 ต่อปี แสดงถึงความต้องการน้ำยางข้นที่มีรองรับต่อเนื่อง ขณะที่อุปทานยางพารา คาดว่า น่าจะให้ภาพที่เพิ่มขึ้นตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต เนื่องจากเข้าสู่วงรอบของปรากฏการณ์ลานีญากำลังอ่อนที่จะทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของผลผลิตยางพาราน่าจะน้อยกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของความต้องการถุงมือยางโลก ทำให้ภาพรวมราคายางพาราน่าจะสามารถประคองตัวต่อไปได้จากปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ

ในส่วนของบริษัทเอกชนไทยที่เป็น 1 ใน รายใหญ่ผลิตถุงมือยางป้อนโลกก็อยู่ในสภาพขาขึ้นอย่างชัดเจน

จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญที่สุดในประเทศและอันดับ 3 ของโลก มองว่าแม้ขณะนี้ หลายประเทศจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะควบคุมโรคระบาดได้ทันที เพราะต้องรอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อน ถุงมือยางจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นไปอีกนาน

เพราะเมื่อมีการฉีดวัคซีน แพทย์ต้องใส่ถุงมือยางทุกครั้ง ใช้เสร็จต้องทิ้ง ห้ามใช้ซ้ำ โดยคนไข้ 1 คน ต้องฉีดวัคซีน 2 โดส หรือ 2 ครั้ง ดังนั้น กว่าที่จะฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงและครอบคลุมมากพอ คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี  โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตราว 33,000 ล้านชิ้น/ปี และเพื่อรองรับดีมานด์  ถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้วางงบลงทุนในช่วง 6 ปี นับจากนี้ไว้กว่า 44,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 100,000 ล้านชิ้น ภายในปี 2569

กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงได้รับคำสั่งซื้อถุงมือยางอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าที่รอส่งมอบล่วงหน้า (แบ็กล็อก) ถึงปี 2566 ตลอดจนราคาขายที่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ประกอบกับบริษัทฯ มีความพร้อมด้านการผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่เป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายยางพาราที่สำคัญของโลก

Exit mobile version