สหรัฐ-ญี่ปุ่นประกาศจับมือชนจีนทุกเวที?!?หนุนหลังไต้หวันพร้อมสร้าง5G แข่ง ขณะไบเดนรูดซิปปากญี่ปุ่นเทน้ำปนรังสีลงทะเล

2113

อาการอิจฉาแรงของมหาอำนาจ ทำชาวโลกไม่สงบสันติ สหรัฐและญี่ปุ่นประกาศที่จะยืนหยัดต่อต้านอิทธิพลของจีน และร่วมสร้างเทคโนโลยีแห่งอนาคตโดยเฉพาะ 5G เพื่อแข่งขันกับจีนโดยเฉพาะ และเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้จัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพันธมิตร เปิดภาพชัดแจ้งของพันธมิตรต้านจีนที่มีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป ขณะที่ประกาศจะร่วมมือกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ลืมไปว่าทั้งโลกเห็นพฤติกรรมอีกด้านของญี่ปุ่นที่ปิดไม่มิด เรื่องเทน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงในทะเล ผู้นำทั้งสองใยปิดปากเงียบ? จับตาบทบาทกลุ่ม QUADในอาเซียนและน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่กำลังพยายามอย่างยิ่งให้อาเซียนแทรกแซงพม่า และยุยงให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างจีน-ไต้หวัน ด้วยข้ออ้างเสรีภาพ-ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันศุกร์ที่ 16เม.ย.2564 ปธน.ไบเดนได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรกกับโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และไบเดนบอกกับซูงะว่าจะสนับสนุนญี่ปุ่น “ด้วยเกราะเหล็กของเรา” ในประเด็นด้านความมั่นคงและผลประโยชน์ร่วมกันอื่นๆ

ไบเดนกล่าวว่า “เรากำลังจะทำงานร่วมกันเพื่อพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยยังคงสามารถแข่งขันและชนะได้ในศตวรรษที่ 21” ไบเดนจัดแถลงข่าวที่สวนกุหลาบของทำเนียบขาว หรือ White House Rose Garden โดยเขาเรียกผู้นำญี่ปุ่นว่า “โยชิ” ด้วยความสนิทสนม

ผู้นำทั้งสองประเทศได้ประกาศเป็นพันธมิตรต่ออำนาจจีนอย่างชัดแจ้ง เช่นนี้ทุกอย่างที่ญี่ปุ่นทำก็หมายถึงผลประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐใช่หรือไม่?

แถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้มีการ “สนทนาอย่างตรงไปตรงมา” กับจีนและไม่ได้นิ่งเฉยสร้างความกังวลต่อการเคลื่อนไหวทางทะเลที่เพิ่มขึ้นของจีน การปิดล้อมในฮ่องกงและซินเจียง และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในไต้หวัน

คำแถลงดังกล่าวย้ำว่าสนธิสัญญาความมั่นคงของสหรัฐ-ญี่ปุ่นครอบคลุมหมู่เกาะเซนกากุที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกันโดยเรียกว่าเกาะเตียวหยู สหรัฐและญี่ปุ่น แถลงการณ์ระบุ “เราคัดค้านความพยายามเพียงฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ในทะเลจีนตะวันออก”

ขณะที่จีนเพิ่มการเคลื่อนไหวด้านทัพอากาศในไต้หวัน ในประเด็นนี้แถลงการณ์ของไบเดนและซูงะได้เน้นย้ำถึง “ความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน” และสนับสนุน “การแก้ไขปัญหาข้ามช่องแคบอย่างสันติ” ปากพูดว่าสันติแต่ขายอาวุธ และยั่วยุไต้หวันให้แข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับฮอตสปอตด้านภูมิศาสตร์การเมืองอีกหลายแห่งในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งช่องแคบไต้หวัน

นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำญี่ปุ่นเข้าร่วมประธานาธิบดีสหรัฐออกแถลงการณ์เกี่ยวกับไต้หวันนับตั้งแต่ทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นได้เปลี่ยนการรับรองรัฐบาลไทเปไปรับรองรัฐบาลปักกิ่งในช่วงทศวรรษ 1970 ถึงแม้ว่าจะเป็นแถลงการณ์เชิงรุกในทางการเมืองครั้งแรกก็ตาม

นอกจากนี้ไบเดนและซูงะประกาศจะพัฒนา 5Gและ 6G ร่วมกันเพื่อสู้จีนหลังเตะตัดขาไม่ให้ 5 จีของหัวเหว่ยเติบโต?

สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นต้อง “รักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” และตรวจสอบให้แน่ใจว่า “เทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ภายใต้บรรทัดฐานประชาธิปไตยที่เราทั้งสองมีร่วมกัน – บรรทัดฐานที่กำหนดโดยระบอบประชาธิปไตย (แบบสหรัฐฯ)ไม่ใช่โดยรัฐบาลอำนาจนิยมต่างๆ” ไบเดนกล่าวโดยเห็นได้ชัดว่าพาดพิงถึงจีนที่มีความก้าวหน้าในเรื่อง 5G แต่เลือกใช้คำพูดทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีเฉพาะเจาะจง

บริษัท Huawei ของจีนมีบทบาทสำคัญในเทคโนโลยี 5G ยุคแรกๆ ซึ่งกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลกแม้ว่าสหรัฐจะกดดันบริษัทอย่างหนักก็ตามโดยรัฐบาลสหรัฐระบุว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว แถลงการณ์ร่วมระบุว่าสหรัฐจะจ่ายเงิน 2,500 ล้านดอลลาร์และญี่ปุ่นอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้

มาซาชิ อาดาจิ ที่ปรึกษาพิเศษของซูงะกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการพัฒนาร่วมกันมากกว่าการระดมทุนใหม่ โดยชี้ไปที่โครงการหลายโครงการที่กำลังดำเนินการในญี่ปุ่นเกี่ยวกับการพัฒนา 5G

แน่นอนจีนตอบโต้ทันที โดยได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างมากและคัดค้านอย่างแข็งกร้าวในวันนี้ (17 เม.ย.2564) กับแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่หลังการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐ-ญี่ปุ่น โดยแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวแสดงความวิตกในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนเช่น เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน และน่านน้ำในทะเลจีนใต้

“จีนจะปกป้องอธิปไตย, ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของชาติอย่างแข็งแกร่ง” สถานทูตจีนในสหรัฐระบุ และเสริมว่า แถลงการณ์ร่วมของสหรัฐและญี่ปุ่นดังกล่าวได้ก้าวไปไกลเกินขอบเขตของการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีตามปกติ”

“สหรัฐและญี่ปุ่นเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของบุคคลที่สาม, ต่อความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศในภูมิภาค และต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”