หอการค้าไทยนัด 40 ซีอีโอบริษัทฯ!?!ถกแผนฟื้นเศรษฐกิจสู้โควิด นำร่องดึงค้าปลีก-ธนาคารเอ็มโอยูช่วย 600 เอสเอ็มอี

1169

วิกฤตโควิดระบาดระลอกใหม่สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ แต่ต้องร่วมกันฟันฝ่าสภาหอการค้าไทย ร่วมกับ 40ผู้บริหารบริษัทใหญ่ฯ ร่วมหารือแนวทางฟื้นเศรษฐกิจ หนุนการเร่งฉีดวัคซีน-พยุงธุรกิจเอสเอ็มอี-จัดการอุปสรรคขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นการสนับสนุนภาครัฐบาลโดยภาคเอกชนครั้งใหญ่ และนำร่องไปก่อนด้วยการดึงกิจการค้าปลีก และธนาคารลงนามเอ็มโอยูช่วยพยุงเอสเอ็มอีให้ทำธุรกิจต่อได้ด้วยการ ใช้ใบออเดอร์สินค้าค้ำประกันเงินกู้ได้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่าในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564นี้ จะมีการประชุมระบบทางไกลระหว่างคณะกรรมการหอค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ใน 40 บริษัทใหญ่ของไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในรอบใหม่ รวมถึงขอความร่วมมือตามภารกิจเร่งด่วนที่หอการค้าไทยต้องการดำเนินการให้เกิดขึ้นภายใน 99 วัน หลังจากที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยมี 3 ภารกิจ ที่จะนำเสนอให้ซีอีโอได้รับทราบ ได้แก่

1.การเร่งรัดและให้สนับสนุนการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด ให้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด

2.การเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือและพยุงธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากในไทย

3.การเร่งแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากโควิดคลี่คลายแล้ว

“เดิมนั้นจะเชิญซีอีโอ 40 ท่าน มาหารือที่โรงแรม แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดรวดเร็วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทุกวัน จึงได้ปรับเป็นการประชุมทางไกลแทน ซึ่งได้รับการยืนยันจากซีอีโอจากทุกภาคอุตสาหกรรม เราต้องการให้ภาคเอกชนรับรู้ถึงสถานการณ์และแนวคิดที่จะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ร่วมมือลดปัญหาจากโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งไม่แค่หลังโควิดคลี่คลายแต่ต้องเร่งทำตั้งแต่ตอนนี้”

ภาคเอกชนตั้งเป้าเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยก่อนโดยดำเนินการไปแล้วบางส่วน

“สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่รวดเร็วและรุนแรงขึ้น แม้จะยังไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ แต่ก็เหมือนเป็นการล็อกดาวน์ธุรกิจกันเองอยู่แล้ว เพราะธุรกิจเองก็ต้องการป้องกันการแพร่ระบาดย่อมมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ รายได้ แบกภาระค่าใช้จ่าย ค่าจ้าง แต่รายได้ไม่เท่าเดิม นานวันจะลำบาก รายใหญ่นั้นมีสำรองเงินทุน”

ทั้งนี้ นายสนั่น เปิดเผยว่า ได้เริ่มการให้ความช่วยเหลือ “เอสเอ็มอี” แล้ว โดยร่วมกับอุตสาหกรรมค้าปลีก ขอความร่วมมือธนาคารต่าง ๆ และบริษัทซัพพลายเออร์สนับสนุนการเข้าถึงเงินกู้ของร้านค้ารายย่อย โดยให้เอสเอ็มอีนำใบคำสั่งซื้อของหน้า (ใบออเดอร์การค้า) มาเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินในโครงการซอฟต์โลนได้ ส่วนเรื่องของหนี้เสียไม่ต้องเป็นกังกล เพราะมีคำสั่งซื้อเป็นการค้ำประกันถึงรายได้ที่จะได้รับแน่นอน

นายสนั่น กล่าวเสริมว่า

“ได้รวบรวมและนำร่องกับ 600 ราย โดยหลังหยุดยาวสงกรานต์ จะหารือระหว่างสมาคมธนาคาร และสมาคมค้าปลีก และลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือเพื่อผลักดันซอฟต์โลน(ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ) ขณะเดียวกันจะตั้งคณะกรรมการศึกษาโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) ดูว่าอะไรจะสามารถดำเนินการได้จริง ที่เน้นไปช่วยเหลือภาคธุรกิจบริการ โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ นั้นทำอย่างไรได้บ้าง ไม่อยากให้แค่เป็นโครงการพูดแบบหรู แต่เกิดไม่ได้จริง หลังจากหยุดสงกรานต์มีหลายเรื่องที่จะหารือภาคเอกชน เพื่อเตรียมข้อมูลและแนวทางที่จะนำเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและให้การสนับสนุน เพราะยังไม่อาจประเมินได้ชัดเจนได้ว่า การระบาดรอบใหม่นี้จะกินพื้นที่แค่ไหน และกระทบต่อการทำธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่แน่ ซึ่งในการประชุมภาคเอกชน(กกร.) ก็คงต้องหารือและประเมินกันอีกครั้ง แต่เบื้องต้นทุกคนมองว่าน่ากังวลมาก หากหลังสงกรานต์ยอดผู้ติดเชื้อจะยังสูงต่อเนื่อง ธุรกิจจะยิ่งเดือดร้อนหนัก ”