กฎหมายสำคัญช่วยลูกหนี้ ทั้ง พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยผิดนัด และพ.ร.ก. ซอฟต์โลนช่วยผู้ประกอบการ 3.5 แสนล้าน มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากราชกิจจานุเบกษา ประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อย ต้องขอบคุณผลงานทิ้งทวนของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายวิรไท สันติประภพ ได้โพสต์ลงเฟสบุ๊กทันทีเมื่อพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับคลอดออกมานับเป็นข่าวดีแก่คนไทยทั้งผองอย่างยิ่ง
อดีตผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า
“การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ไม่เป็นธรรมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดอยู่ในกับดักหนี้ครับ”
ที่ผ่านมา เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดบนฐานของเงินต้นคงเหลือทั้งหมด ไม่ใช่แค่เงินต้นที่ครบกำหนดชำระในงวดนั้นๆ ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก และลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ทราบ หรือไม่ตระหนักว่าตนเองมีภาระดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มสูงขึ้น ยังผ่อนชำระทุกงวดเท่าเดิม เงินที่ผ่อนเท่าเดิมก็อาจจะไม่พอ หรือพอแค่ดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินต้นลดลงช้ามาก
ทีมคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติเริ่มแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้แก้ไขวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัด (ทั้งเรื่องนี้และวิธีคิดเรื่องอื่นที่ไม่เป็นธรรม)
จากหนังสือเวียนขอความร่วมมือ ได้ถูกยกระดับเป็นประกาศ ธปท. มีผลทางกฎหมายกับผู้ให้บริการทางการเงินหลากหลายประเภท และศาลท่านได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติเวลาพิพากษา
มาถึงวันนี้ ได้ถูกยกระดับเป็นส่วนหนึ่งของ พรก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา224/1) มีผลใช้กับเงินกู้ยืมเป็นการทั่วไป ไม่ว่าสัญญาเดิมจะเขียนไว้อย่างไร
ขอขอบคุณทีมคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และทีมเลขาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้จนออกมาเป็นกฎหมายได้สำเร็จครับ
บทบาทกฎหมายฉบับสำคัญทั้งสองมีผลบังคับแล้ว ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ของคนไทยในหลายๆด้าน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ให้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยฉบับแรก คือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 และมีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อป้องกันเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้สูงเกินจริง ซึ่งกฎหมายหมายฉบับเดิม ตั้งแต่ปี 2468 มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินควร เจ้าหนี้บางรายอาศัยความไม่ชัดเจน กำหนดให้ลูกหนี้เมื่อผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ต้องจ่ายดอกเบี้ยบนเงินต้นทั้งหมด และยังสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมด้วย
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย เป็นการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย คือ 1. อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด (แก้ไข มาตรา 7) ปรับลดจากอัตรา 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลัง จะทบทวน ทุก 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 2.อัตราดอกเบี้ยผิดนัด (แก้ไข มาตรา 224) ปรับลดจาก 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 5% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนี้ เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี และ 3. กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น จากเดิมที่มาตรา 224/1 ไม่ได้กำหนดไว้ ส่งผลให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด
ส่วนอีกฉบับ คือ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 เป็นการตัดวงเงินที่เหลือจากพระราชกำหนดฯ ฉบับ พ.ศ. 2563 โดยฉบับล่าสุดประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ
1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ ทั้งที่เป็นลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในกิจการได้มากขึ้น ขยายเวลา ขยายวงเงิน ขยายการชดเชยรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และกำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม
- มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัวแต่ยังมีศักยภาพและมีหลักประกัน เป็นการลดความเสี่ยงในการขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินไป และช่วยให้ธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ต่อไป
น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดทั้งสองฉบับ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดูแลช่วยเหลือประชาชนและเอกชน มุ่งเป้าเพื่อการบรรเทาภาระลูกหนี้ทั่วไปที่ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ไม่เป็นธรรมและการคิดคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดอย่างโหดร้าย และช่วยภาคธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้โดยขั้นตอนทางกฎหมายลำดับต่อไป คณะรัฐมนตรีต้องเสนอพระราชกำหนดดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา
ส่วนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ รัฐบาลผลักดันออกมา 5 มาตรการ
ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนผ่านความร่วมมือระหว่าง ธปท. ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกอบด้วย
1.มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 (มี.ค.-มิ.ย.2563) การออกมาตรการขั้นต่ำช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสภาพคล่องและการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เช่น มาตรการเลื่อนชำระหนี้
2.มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 (มิ.ย.-ธ.ค.2563) ที่เน้นช่วยเหลือแก่ลูกหนี้เพื่อให้มีกระแสเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายดำรงชีพและประกอบอาชีพ เช่น ลดเพดานดอกเบี้ย การเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านการเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว
3.มาตรการรวมหนี้ (ก.ย.-ธ.ค.2563) สำหรับลูกหนี้รายย่อยในการรวมหนี้ระหว่างสินเชื่อประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันการเงินเดียวกัน เช่น บัตรเครดิตกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์ในกำรเป็นหลักประกันทำให้ลดอัตราดอกเบี้ยหรือลดภาระการชำระหนี้ได้
4.โครงการคลินิกแก้หนี้ ที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันทั้งบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดควบคู่กับการเสริมความรู้ทางการเงิน ซึ่งโครงนี้ได้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 โดยปี 2563 ขยายขอบเขตการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น
5.การปรับปรุงกลไกและยกระดับการไกล่เกลี่ยหนี้ (ตั้งแต่ 14 ก.พ.-14 เม.ย.2564) โดย ธปท.ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี ช่วยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้หาทางออกเพื่อแก้ปัญหำหนี้ร่วมกันได้เร็วและปฏิบัติได้จริงและเพื่อให้ลูกหนี้ฟื้นฟูฐานะการเงินได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล