ประยุทธฯโยนครม.ตัดสินรถไฟฟ้าสีเขียวแค่ซื้อเวลา?!?BTSเปิดความจริงปัญหา สัมปทานต้องรอแต่กทม.ต้องจ่ายหนี้ 3 หมื่นลบ.

2356

จนถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบ การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ยิ่งมีสถานการณ์ระบาดโควิดรอบใหม่มาขั้น และติดช่วงสงกรานต์อีก ยิ่งประเมินได้ว่า ยังอีกนานกว่าจะมีข้อสรุป แม้ว่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ฯจะออกมาพูดให้ความหวังว่าอีกไม่นานใกล้เข้าครม.แล้ว แต่ก็ไม่รู้วันไหนกันแน่

ปัญหาคาราคาซังเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวมันพัวพันกับรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างแยกไม่ออก เพราะต้นเรื่องที่เป็นเหตุแห่งความล่าช้าคือ กระทรวงคมนาคม ผู้ออกหน้าในฝ่ายปฏิบัติการคือ รฟม. สายสีเขียวดำเนินการก่อสร้างเปิดใช้อย่างราบรื่นกันมาเกือบ 4 ปี แต่มาสะดุดตอนเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนคือBTSC ฟ้องรฟม.เปลี่ยนใช้TOR ใหม่สีส้มกลางคันทั้งๆที่ขายซองไปแล้ว ไม่เป็นธรรมกับเอกชน นับแต่นั้นมา รถไฟฟ้าสีเขียวและสีส้มก็ไม่ราบรื่น และหลายฝ่ายมีความพยายามให้ล้มข้อตกลงที่อนุมัติกันมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้บริษัทเอกชนอย่าง BTSC ที่ตั้งหน้าทำงานจนครบ ทั้งการก่อสร้างและการบริหารรถไฟฟ้า เหมือนถูกหลอกให้ทำงานฟรีมา 4 ปี วันนี้คำตอบคือ จะได้สัมปทานหรือไม่ ครม.จะชี้ขาด ซึ่งBTSC ก็คงทำอะไรไม่ได้ต้องรอตามนั้น เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ครม.  

แต่ภาระหนี้สินที่เกิดจากการทำงานที่ตกลงกับกทม. กว่า 3 หมื่นล้านบาท เมื่อทวงถามคู่สัญญาคือ กทม.กลับโยนไปมาไม่มีคำตอบที่แน่นอน ประเภทไม่หนีแต่ไม่มีจ่าย เป็นเราท่านประชาชนคนธรรมดาคงรอถึงขนาดนี้ไม่ไหวแน่ ส่วนเรื่องค่าโดยสารจะถูกหรือแพงอยู่ที่หนี้ก้อนโตของรฟม.และกทม. ซึ่งต้องมารวมเป็นต้นทุนด้วย ไม่ว่าจะต่อหรือไม่ต่อสัมปทานให้บีทีเอสก็ตาม  

ล่าสุดบีทีเอสต้องทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงประชาชน ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าใจภาระที่บีทีเอสต้องแบกมานานกว่า 4 ปี และจนบัดนี้ยังคงไม่มีคำตอบจากใครอย่างชัดเจนว่า กทม.ค้างหนี้สินกว่า 3 หมื่นล้านบาทจะเอายังไง ซึ่งอาจต้องดำเนินการตามสิทธิ์ แต่จะพยายามไม่ใช่ประชาชนต้องเดือดร้อน 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้แถลงถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า สายสีเขียว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี และขอบคุณนายกฯที่รับปากจะช่วยคลี่คลาย 

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้บริษัทฯ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ชี้แจงข้อเท็จจริงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ให้ประชาชนได้รับทราบว่าที่ผ่านมา บริษัทฯ เข้าใจถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาล ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป โดยภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นหลัก ประกอบด้วย ค่าระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ค่าจ้างเดินรถ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรที่กรุงเทพมหานคร โดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถ

ทั้งนี้ บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชน จะเข้าใจถึงปัญหาที่เราต้องเผชิญ และได้พยายามอย่างที่สุด ที่จะร่วมรับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้โดยสาร ทุกท่านที่ให้การสนับสนุน และจะพยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะดูแลผู้โดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด 

สำหรับจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

– รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน โดย กทม. แบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป รวมทั้งสิ้นกว่าแสนล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาได้เสนอให้เอกชนรับภาระหนี้สินทั้งหมดกว่าแสนล้านบาทไปจากรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ซึ่งข้อเสนอนี้ยื่นต่อ ครม. แล้ว แต่ยังไมได้รับความเห็นชอบ

– กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดินรถจนเป็นหนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จำนวน 9,608 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ 20,768 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

– บริษัทฯ ยื่นทวงถามหนี้แล้ว แต่ยังไม่มีใครชำระหนี้และกทม.ไม่มีคำตอบ

– บริษัทพยายามร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา แต่เหมือนมีปัญหาภายในที่ไม่สามารถก้าวล่วงได้ ประกอบกับมีบุคคลบางกลุ่มอาจต้องการไม่ให้เรื่องดังกล่าวได้รับการแก้ไข และพยายามสร้างประเด็นขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน โดยไม่สนใจว่าปัญหาจะสร้างความเดือดร้อนในอนาคต

– ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน แต่ปัญหาตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ลำพัง บริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขให้ประสบความสำเร็จได้ สุดท้ายอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน

สำหรับกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้มีการยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – สุวินทวงศ์ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ยกเลิกการประมูลโครงการโดยมิชอบ และเป็นการฟ้องร้องเพิ่มเติมที่บริษัทเคยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ดำเนินการผู้บริหาร รฟม. รวม 7 คน ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคาทีโออาร์ ซึ่งศาลจะนัดฟังคำสั่งวันที่ 5 พฤษภาคม นี้