กระทรวงอว.ร่วมมูลนิธิยูนูสรุก!?!ดันเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่โลก ขยับไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

2797

มีคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลุงตู่กันมากเรื่อง “จอมแจกเงิน” ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ “คนละครึ่ง” “เราชนะ” “ม.33 เรารักกัน” แต่หารู้ไม่ว่า มาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตยุคใหม่อย่างดียิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสด( Cashless Society)ของชีวิตแบบดิจิทัล ที่รุกคืบเข้ามาในวิถีชีวิตของคนยุคนี้อย่างรวดเร็ว วิกฤตโควิดเปิดโอกาสให้คนไทยได้ทำสิ่งนี้ ชีวิตแบบนิวนอร์มัลนอกจากสังคมดิจิทัลแล้ว การพึ่งตนเองการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรับโลกหลังโควิดกำลังเป็นที่สนใจทั้งโลก และข่าวสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้คือ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของโนเบิลสันติภาพ ได้ประกาศยกย่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างชัดถ้อยชัดคำ จับมือกับกระทรวงอว.ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ระดับโลก ใครที่มองข้าม เย้ยหยันโปรดทราบกันไว้ว่า วันนี้โลกจับตามองไทย ไม่ใช่แค่ สาธารณสุขรับมือโควิดเป็นเลิศ สถานที่ท่องเที่ยวสวยเริด อาหารอร่อยเป็นเยี่ยมเท่านั้น

เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทางวิชาการและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการศึกษา วิจัยและนวัตกรรม โดย รมว.อว. เปิดเผยหลังการลงนามว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. นิด้า และ มูลนิธียูนุส ในครั้งนี้จะน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักคิดและทฤษฎีสำคัญ ประยุกต์กับการวิจัยและวิชาการนำไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เกิดรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ 

โดยความร่วมมือผลิตและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา จัดทำและพัฒนาโครงการฝึกอบรมและโครงการวิชาการ แลกเปลี่ยนอาจารย์/นักวิจัยร่วมกันเพื่อดำเนินการฝึกอบรมสัมมนาและการประชุม รวมถึงการร่วมวิจัยกรณีศึกษา และสร้างการมีส่วนร่วมในการสัมมนาการประชุมทางวิชาการ อีกทั้งให้มีการแลกเปลี่ยนเอกสารทางวิชาการและข้อมูลกันและกันระหว่างหน่วยงานด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศแนะนำสถาบันชื่อว่า “ธัชชา” โดยจับมือ 3 องค์กร คือกระทรวงอว. นิด้า และ มูลนิธิยูนุส เน้นบูรณาการศาสตร์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นำเอาความรู้ นโยบาย สู่การปฏิบัติเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ต่อยอด และประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ สร้างองค์ความรู้ไปเป็นโมเดลที่มีการนำไปปฏิบัติจริงได้ในระดับโลก โดยการผสมผสานและต่อยอดไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน มีเป้าหมายสร้างการศึกษา ความกินดี อยู่ดี มีงานทำ

กำลังสำคัญที่จะมาร่วมกับดร.เอนกฯผลักดันภารกิจนี้คือเจ้าของรางวัลโนเบิล-ธนาคารคนจน

มูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammôd Iunus) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ชาวบังคลาเทศผู้ริเริ่มพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับชาวบ้านหรือผู้ประกอบการขนาดย่อมหรือ SMEs นั่นเอง เป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีนแบงก์” หรือธนาคารเพื่อคนจน จนได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพในปี 2549

สำหรับ “ความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง”ยูนูสเคยได้รับรางวัลและเกียรติคุณอื่นๆในระดับนานาชาตินอกเหนือจากนี้มาแล้วมากมาย เขาเป็นผู้แต่งหนังสือ Banker to The Poor รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิกรามีนอีกด้วย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ยูนูส ยังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์อื่นๆอีก 27 ครั้ง และรางวัลพิเศษอีก 15 รางวัล 

 

มูฮัมหมัด ยูนุสชื่นชมและยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยมาก พร้อมเชื่อมั่นว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประเทศไทยก้าวเดินสู่เศรษฐกิจระดับโลกได้ และเป็นผลผลิตจากปัญญาของคนไทยโดยแท้จริง

ยูนุสมองว่า สถานการณ์เรื่องโรคระบาดที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันนี้ ได้สอนมนุษย์หลายอย่าง ทำให้เห็นข้อผิดพลาดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในอดีต ซึ่งรวมถึงความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างทางเศรษฐกิจที่สร้างระยะห่างระหว่างคนรวยและคนจน ส้างความโกรธ ความหวาดกลัวในผู้คน เขามองว่าการรวมมือกันครั้งนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการร่วมคิด ร่วมสร้าง เป็นการหลีกหนีสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ดีหลายอย่างเช่น ภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่ง ที่โลกมีตนรวย 1% แต่ถือครองทรัพย์สินในโลกถึงเกือบ 99% และมีแนวโน้มเกิดปัญหาลุกลามเพิ่มขึ้น

มูลนิธิยูนุส นำเสนอศักยภาพของมนุษย์ที่ไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อหางานทำ แต่มนุษย์มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในหลายระดับ

ถ้าไม่อยากตกอยู่ในวังวนแห่งความลำบากยากจน จะต้องสอนลูกหลานมให้รู้จักตนเองอย่างแท้จริง และพึ่งพาตนเองตามความชอบ ความถนัดความสามารถ นั่นหมายถึงการเป็นผู้ประกอบการ สร้างระบบใหม่ขึ้นมารองรับเพื่อไม่ให้ความมั่งคั่งกระจุกตัว สร้างความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป

ธนาคารทั่วไปมักลังเลที่จะให้คนยากจนกู้เงินเนื่องจากไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้เงินคืน แต่ศ.ยูนุส พยายามจะเปลี่ยนแปลงวงจรอุบาทว์ที่ว่า “รายได้น้อย, เงินเก็บน้อย และเงินลงทุนน้อย” ให้กลายเป็น “รายได้น้อย, ได้เงินกู้, นำไปลงทุน, รายได้เพิ่มขึ้น, เงินเก็บเพิ่มขึ้น, เงินลงทุนมากขึ้น, รายได้เพิ่มขึ้น” แทน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย และมีการเลียนแบบนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งทั่วโลก

โลกยุคใหม่หลังวิกฤตโควิดระบาด ต่างจับจ้องค้นหาหนทางการพัฒนาชีวิตเศรษฐกิจที่เหมาะสม และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือคำตอบ  วันนี้ทั้งกระทรวงอว.ร่วมกับมูลนิธิยูนุส และรัฐบาลยุคลุงตู่จะร่วมกันพิสูจน์และผลักดันให้คนไทยได้ภาคภูมิใจ พร้อมทั้งให้การศึกษาแก่กลุ่มคลั่งองค์ความรู้ตะวันตก ที่พากันเย้ยหยัน พระอัจฉริยภาพของจอมปราชญ์แห่งแผ่นดินไทย ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นลึกซื้งและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพียงใด!!