เอกชัย-พวก ลุ้นอัยการฯสั่งฟ้องคดีประทุษร้ายเสรีภาพราชินี โทษถึงคุกตลอดชีวิต หากศาลไม่ให้ประกัน

2248

จากกรณีที่วานนี้ (30 มี.ค. 2564) เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโพสต์ข้อความว่า เวลา 10.00 น. 5 ผู้ต้องหา ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 ราย จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฟังคำสั่งในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 “ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี” กรณีถูกกล่าวหาว่าได้เข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จของพระราชินีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าทีปังกร ระหว่างการเสด็จผ่านบริเวณถนนพิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

คดีนี้มีนายศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของ “คณะราษฎร” ราว 17.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหลักได้เคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล อีกด้านบริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจำนวนหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่ขบวนเสด็จฯ ผ่านเข้ามาในที่ชุมนุมโดยที่ไม่มีใครทราบมาก่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นช่วงเวลาหนึ่ง มีการผลักและดันกันจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาคอยกั้นแนวระหว่างผู้ชุมนุมและรถขบวนเสด็จฯ

ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เพียงแค่ 2 วัน (16 ต.ค. 2563) ปรากฏว่ามีผู้ถูกออกหมายจับจากกรณีดังกล่าว 2 ราย คือ เอกชัย และบุญเกื้อหนุน บุญเกื้อหนุนเมื่อทราบข่าวว่ามีหมายจับจึงได้เดินทางไปที่ สน.ดุสิต เพื่อมอบตัวก่อนการจับกุม ในขณะที่เอกชัยเตรียมจะเดินทางไปสถานีตำรวจ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัว ต่อมาในวันที่ 21 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมตัวสุรนาถที่บ้านตามหมายจับ ทั้งที่กำลังจะเดินทางไปหลังทราบว่ามีการออกหมายจับเช่นกัน

ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ต่อมาพนักงานสอบสวนยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกสามข้อหา ได้แก่ ข้อหามั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร

ในจำนวนทั้งสามคน มีบุญเกื้อหนุนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ขณะที่เอกชัยและสุรนาถศาลไม่ได้ประกัน ทำให้ทั้ง 2 คนต้องถูกคุมขังเป็นเวลา 18 วัน และ 13 วัน ตามลำดับ ก่อนที่ต่อมาศาลจะยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 โดยที่กรณีของสุรนาถยังถูกเจ้าหน้าที่นำตัวแยกไปที่เรือนจำบางขวางด้วย

ต่อมายังมีรายงานว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกสองราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม รวมทำให้รวมมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 5 ราย

ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าต่ออัยการ พนักงานอัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งมาแล้วสามครั้ง หากอัยการมีคำสั่งฟ้องในวันพรุ่งนี้ จะทำให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 กลายเป็นจำเลยคดีตามมาตรา 110 กลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ซึ่งกำหนดโทษต่ำสุดตามวรรคหนึ่งคือโทษจำคุก 16-20 ปี ในขณะที่โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต

สำหรับกรณีนายเอกชัยนั้น ต่อมามีการเปิดเผยคลิปขณะที่ นายเอกชัย ยืนตะโกนชู 3 นิ้ว ร่วมกับผู้ชุมนุม กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ขณะที่จับภาพ ม็อบ 14 ตุลา อีกหลายคนที่กระทำเช่นเดียวกับนายเอกชัยได้ โดยตัวนายเอกชัยนั้นยังตะโกนด้วยว่า ขบวนเสด็จมา ๆ

ทั้งนี้ 30 มี.ค. 2564 นายเอกชัย, นายภวัต หิรัณย์ภณ หรือ เจ๊ป๊อกกี้ และนางณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน ได้เดินทางเข้ายื่นจดหมาย ถึงสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ให้ออกมาตรการตอบโต้รัฐบาลไทย จากการสนับสนุนกองทัพเมียนมา ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

โดยหนังสือมีเนื้อหาใจความเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 (ม.112) ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการใช้สารเคมีผสมน้ำ ฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 อยากให้ทางการญี่ปุ่นช่วยกดดันรัฐบาลไทย ให้ปล่อยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับในความผิดมาตรา 112 นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ทางประเทศไทย ให้การสนับสนุนทหารเมียนมาด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับ นายเอกชัย หงส์กังวาน หรือ เอก ปัจจุบันอายุ 45 ปี นายเอกชัยเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่ไม่ได้สานต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของครอบครัว เพราะเขาชอบเรื่องการค้าขาย จึงได้ลองทำธุรกิจหลายอย่าง แม้กระทั่งนั่งขายสลากที่หน้าปากซอยลาดพร้าว 109 ในสมัยที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้นำสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ออกมาจำหน่าย นายเอกชัยรู้สึกชอบการขายสลาก เพราะเป็นธุรกิจที่ได้เงินดีและไม่เหนื่อย

นายเอกชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนเป็นเด็กเขาไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง กระทั่งปี 2549 เกิดการรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และเปิดทางให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมารัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้สั่งยกเลิกหวยบนดิน ซึ่งเป็นธุรกิจสร้างรายได้ของนายเอกชัยในขณะนั้น จากคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง นายเอกชัยเริ่มออกไปชุมนุมโดยการรวมตัวกับกลุ่มผู้ค้าหวยบนดิน ชุมนุมที่หน้ากองสลาก ถ.ราชดำเนิน จนเขารู้สึกชอบการเมืองมากขึ้น แต่ในช่วงแรกจะเน้นเป็นผู้ร่วมฟัง

นายเอกชัยเคยถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 จากกรณีจำหน่ายซีดีสารคดีการเมืองไทย ที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ จนถูกสั่งจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน