ชำแหละ “แอมเนสตี้” ผุดโครงการ “ในม็อบมีเด็ก” ใช้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นโล่ห์กำบังชุมนุมทางการเมือง!?!

2919

ชำแหละ “แอมเนสตี้” ผุดโครงการ “ในม็อบมีเด็ก” ใช้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นโล่ห์กำบังชุมนุมทางการเมือง!?!

จากกรณีที่วันนี้ (28 มีนาคม 2564) คณะทำงานโครงการ “ในม็อบมีเด็ก” (Child In Mob) ได้แถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังเปิดรับอาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชุมนุมเพื่อสร้าง “วงล้อมแห่งความปลอดภัย” ต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 และเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยการเป็นอาสาสมัครและร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน

นางปิยนุช โคตรสาร ตัวแทนโครงการในม็อบมีเด็ก เปิดเผยว่า อาสาสมัคร Child in Mob คือ กลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่การชุมนุมหนึ่งในภารกิจหลักของโครงการ Child in Protest ที่เกิดจากการรวมตัวของหลายองค์กรเช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิสายเด็ก 1387 (Child Line) กลุ่มหิ่งห้อยน้อย ครูขอสอน ก่อการสิทธิเด็ก โครงการสวนครูองุ่น การเมืองหลังบ้าน นักจิตบำบัดอิสระ อาสาสมัคร และคนทำงานที่สนใจด้านสิทธิเด็ก โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูแลปกป้อง และสนับสนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

จากการรวบรวมข้อมูลของ Mob Data เราพบว่า มีจำนวนเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปีเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ  ในการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม มีจำนวนเด็กมากกว่า 800 คน และภายในเวลา 2 เดือน เฉพาะในการชุมนุมที่กรุงเทพ มีจำนวนเด็กรวมกันกว่า 5,000 คน โดยตัวเลขนี้ได้มาจากจำนวนสายรัดข้อมือที่กลุ่มอาสาสมัคร Child in Mob ได้แจกตั้งแต่การลงพื้นที่ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563

นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อสนับสนุนการปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของเด็ก โดยเงินบริจาคจะถูกนำไปใช้เพื่อซื้ออุปกรณ์ระบุตัวตนของเด็กในพื้นที่ชุมนุมได้ เช่น สายรัดข้อมือที่ไม่เพียงช่วยระบุและยืนยันตัวตนสำหรับเด็กแต่ยังช่วยเป็นจุดสังเกตุของผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมการชุมนุม เช่น สื่อมวลชนต้องระวังการถ่ายภาพและลงรูปของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือแม้แต่ช่วยระแวดระวังการถูกล่วงละเมิดทางเพศและร่างกายกับเด็กในพื้นที่การชุมนุมด้วย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ได้เกิดเหตุผู้ชุมนุมได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ จากการชุมนุมดังกล่าว ได้มีการจับกุมเยาวชนระหว่างร่วมม็อบ REDEM ทำให้ แอมเนสตี้ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยแถลงว่า เด็กมีสิทธิชุมนุมและต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และรับไม่ได้เจ้าหน้าที่จับกุมขณะไปร่วมม็อบ REDEM

โดยแอมเนสตี้ ได้กล่าวว่า การจับกุมและทำร้ายเด็กระหว่างการชุมนุมเช่นนี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยไม่เคารพศักดิ์ศรีของประชาชน โดยเฉพาะของเด็ก เด็กมีสิทธิแสดงความเห็นเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคม และสิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครองจากสังคมและรัฐบาล แทนที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะคุ้มครองเด็ก แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับทำให้เด็กได้รับอันตรายเสียเอง

หลายคนก็ตั้งคำถามว่า แอมเนสตี้ที่ได้ออกมาปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชน ที่ถูกจับกุมระหว่างการร่วมม็อบเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยไม่คำนึงว่า เยาวชนได้ก่อความรุนแรงหรือไม่ ถึงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม และยังได้ออกมาหนุนม็อบใช้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาร่วมม็อบ โดยจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อดูแลความปลอดภัย หลายคนมองว่า เป็นการปลุกระดมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ออกมาชุมนุมใช่หรือไม่

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ โดยไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมายั่วยุเจ้าหน้าที่ให้เกิดความรุนแรง ทางด้านเจ้าหน้าที่ก็คอยดูแลรักษาความปลอดภัยจนถึงเวลาประกาศยุติการชุมนุม