จากที่วานนี้ (26 มี.ค. 2564) 279 นักวิชาการและวิชาชีพอื่น ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ถึง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวน นายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯต้องปกป้องเสรีภาพและมาตรฐานทางวิชาการ
โดยเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากที่ นายณัฐพล ได้มีการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) โดยเนื้อหาในวิทยานิพนธ์มีการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าข้อมูลในวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาเอง ไม่มีแหล่งอ้างอิง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก และได้เรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมารับผิดชอบถึงกรณีดังกล่าว นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายนันทิวัฒน์ สามารถ ได้โพสต์ข้อความว่า วิทยานิพนธ์ที่เป็นปัญหา บรรดาอาจารย์มีชื่อหลายคนเขียนจดหมายถึงผู้บริหารจุฬาฯ ปกป้องณัฐพล ใจจริง และวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม : ภายใต้ระเบียบโลกสหรัฐ 2491 – 2500 ในทำนองไม่ให้ถอดถอนวิทยานิพนธ์ แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ข้อผิดพลาดหลักของวิทยานิพนธ์
แต่ข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ คือ ไม่ให้เอาผิดทางวินัยและทางอาญาใด ๆ ต่อณัฐพล การสอบสวนของคณะกรรมการที่จุฬาฯ ตั้งยังสอบสวนไม่เสร็จ อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ แต่อาจารย์น่าจะสนใจประเด็นว่า เอกสารอ้างอิงถูกต้องหรือไม่ เอกสารอ้างอิงมีจริงหรือไม่ เอกสารวิจัยมั่วข้อมูลหรือไม่
ผมในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อกว่า 400 คน เรียกร้องให้จุฬาฯตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่า วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีการจัดทำถูกต้องหรือไม่ตามระเบียบวิธีวิจัยและการอ้างอิงข้อมูลถูกต้องตามหลักวิชาการ หากไม่ใช่ต้องแก้ไข หรือแก้ไขแล้ว ทำให้วิทยานิพนธ์ผิดพลาด ขอให้ถอดถอนวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ความห่วงใยของคนไทย คือ วิทยานิพนธ์ดังกล่าว กระทบต่อสถาบันฯ การทำวิทยานิพนธ์ที่ดีต้องไม่ผิดพลาดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะสามารถตรวจสอบได้
ประการสำคัญ หากวิทยานิพนธ์ผิดพลาดและไม่แก้ไขให้ถูกต้อง จะถูกใช้อ้างอิงในทางวิชาการ และกลายเป็นเอกสารที่ระบุว่า สถาบันฯมีความพยายามแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เสมือนยังเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมันไม่เป็นความจริง
การเขียนวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องหรือน่าจะเกี่ยวข้องถึงสถาบันฯ ผู้เขียนน่าจะต้องมีความรับผิดชอบ รู้สึกสำนึกได้ว่าต้องตรวจสอบอย่างดีและตรวจสอบซ้ำ หากไม่มั่นใจต้องตัดออก ไม่ปล่อยผ่าน นี่ไม่ใช่หรือที่อาจารย์ควรต้องออกมาปกป้อง อย่าปล่อยให้มีเอกสารที่ผิดพลาดและถูกใช้ในการมอมเมาคนรุ่นใหม่ ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ให้หลงเชื่อผิด ๆ ต่อสถาบันฯ
ขณะที่ทางด้าน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กของ “Thanapol Eawsakul ของ ธนาพล อิ๋วสกุล” ว่า อันที่จริง ทาง สนพ. รู้เรื่องไม่ได้ร่วมประชุมมาตั้งแต่ปี 2561 ถ้าจะตีพิมพ์แก้ไขในรูปบทความออกมาก็น่าจะทำได้นะ การแก้ไข 2563 ในหนังสือ ไม่ได้ชัดเจนเพียงพอ ถ้าหากไม่เกิดเรื่องขึ้น ผู้อ่านก็ไม่อาจทราบได้