124 ปีครบรอบสถาปนาการรถไฟฯ!?! ร.ฟ.ท.ทดสอบเดินรถไฟฟ้าสีแดง13 สถานีนั่งฟรีเริ่มก.ค. พร้อมเปิดใช้ปลายปีนี้

2123

รถไฟไทยคือมรดกจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 5 ดำเนินงานมาครบรอบ 124  ปีแล้ว ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสดี นอกจากจะจัดกิจกรรมรำลึกแล้ว ได้เปิดทดสอบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่ประชาชนรอคอยมานานนับ 10 ปี เพิ่งจะสำเร็จเป็นจริงในรัฐบาลลุงตู่นี้อย่างน่าภาคภูมิใจ  รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในประเภทรถไฟชานเมือง หรือที่เรียกว่าคอมมิวเตอร์เทรน (Commuter Train) เป็นรถที่ให้บริการในเขตชานเมืองรอบเมืองหลวงประมาณ 100-150 กม. หยุดทุกๆสถานี หรือเกือบทุกสถานี เพื่อใช้เป็นตัวป้อนชุมชนรอบนอก และกระจายคนเข้าสู่ชุมชนหรือเขตเศรษฐกิจในเมืองหลวง 

วันนี้เรามีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มและสายสีแดงอ่อนแล้ว

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม เป็นเส้นทางจากบางซื่อ-ถึงรังสิต มีแนวเส้นทางในทิศเหนือ-ทิศใต้ของกรุงเทพฯ โดยโครงการระยะแรกได้เริ่มตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อจนถึงสถานีรังสิต ส่วนโครงการในอนาคต ทิศเหนือจะต่อขยายไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผ่านอยุธยาไปจนถึงบ้านภาชี ส่วนทิศใต้จะต่อขยายไปทางมหาชัย ผ่านแม่กลองไปจนถึงปากท่อในอนาคต

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เป็นเส้นทางจากบางซื่อ-ถึงตลิ่งชัน มีแนวเส้นทางในทิศตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ โครงการในอนาคต ทิศตะวันออกจะต่อขยายไปทางหัวหมาก ผ่านลาดกระบังไปจนถึงฉะเชิงเทรา ส่วนทิศตะวันตกจะต่อขยายไปทางศาลายา ผ่านนครชัยศรีไปจนถึงนครปฐมในอนาคต

เมื่อวานนี้ วันที่ 26 มี.ค.2564 การรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท. ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ ครบรอบ 124 ปี เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 ระหว่างสถานีกรุงเทพ – อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร ซึ่งการรถไฟฯ จึงกำหนดให้วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟสืบเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ร่วมถวายสักการะพระอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง และสักการะพระอนุสาวรีย์พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี พร้อมทั้งเป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ กรุงเทพ – อยุธยา ที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งเปิดให้ประชาชนได้ร่วมเดินทางสัมผัสขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย

ผู้ว่าการรถไฟฯกล่าวว่า ตลอดเวลา 124 ปี การรถไฟฯได้ตระหนัก และร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของประเทศ ที่ให้บริการขนส่งโดยสารระบบรางแก่พี่น้องประชาชนชาวไทยด้วยดีเสมอมา และในโอกาสสำคัญที่รัฐบาลภายใต้การบริหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อขยายขีดความสามารถทางการแข่งขันและการให้บริการเพิ่มขึ้น

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ -การเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2564 -การก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมือง -การเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน -การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง และ -โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

ด้านการพัฒนาการให้บริการ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยทุกที่ ทุกเวลา 

ด้านการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การรถไฟฯ ได้กำหนดแผนงานระยะเร่งด่วนในการดูแลพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ช่วยส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงเสริมสร้างรายได้ให้แก่องค์กร

ในโอกาสที่เป็นมงคล ร.ฟ.ท.ได้ทดลองเปิดเดินรถเสมือนจริง รถไฟฟ้าสายสีแดง 3 เดือน ก่อนเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี ก.ค.-พ.ย.64 ค่าโดยสาร 12-42 บาท 

โดยผู้รับผิดชอบโดยตรง คือบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้เปิดเผยว่า โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีความพิเศษที่ตัวขบวนรถไฟฟ้า ที่มีความสวยงามเหมือนรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างความสะดวกสบายและความรวดเร็วให้แก่ประชาชน ในการเดินทางเส้นทางชานเมือง

โดยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง คือ สายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน ซึ่งในช่วงแรกเปิดให้บริการ 13 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก, สถานีรังสิต, สถานีบางซ่อน, สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท (อาจมีการเปลี่ยนแปลง) โดยในอนาคตโครงการสายสีแดงเข้ม จะมีส่วนต่อขยาย รังสิต-อยุธยา และสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศาลายา คาดว่า ตลอดเส้นทางอัตราค่าโดยสาร ไม่น่าจะเกิน 42 บาทตลอดสาย

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ นอนาคตก็จะเป็นศูนย์กลางของระบบรถไฟหลายรูปแบบเป็นต้นแบบสถานีอัจฉริยะ 5G แห่งแรกของไทยและอาเซียน โดยจะมีการยกระดับการให้บริการให้ข้อมูลการเดินทางและนำทางภายในสถานีแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงรักษาความปลอดภัย มีทั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อความปลอดภัย รถเข็นอัจฉริยะเพื่อผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพ ที่จะมีระบบนำทางเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายแบบอัตโนมัติ  อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟยุคใหม่ บนเนื้อที่เกือบ 3 แสนตารางเมตร รองรับระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่กำลังทดสอบนี้  รถไฟสายสีแดงจะเป็นรถไฟสายสำคัญที่เชื่อมโยงการเดินทางผ่านกรุงเทพฯ นำผู้โดยสารจากย่านรังสิตไปจนถึงตลิ่งชัน โดยใช้เวลารวมเพียง 40 นาที เท่านั้น

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบสืบสานภารกิจยกระดับ พัฒนาระบบรางไทยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อคนไทย ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองสมพระปณิธาน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำให้พระองค์เสียพระทัย ไม่ทำให้คนไทยต้องผิดหวัง!!