279 นักวิชาการและวิชาชีพอื่น ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ถึง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวนนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯต้องปกป้องเสรีภาพและมาตรฐานทางวิชาการ
จากกรณีที่นายณัฐพล ใจจริง ได้มีการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา [พ.ศ.2491-2500] โดยเนื้อหาในวิทยานิพนธ์มีการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าข้อมูลในวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างขึ้นมาเอง ไม่มีแหล่งอ้างอิง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก และได้เรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมารับผิดชอบถึงกรณีดังกล่าว
ล่าสุด วันนี้ (26 มีนาคม 2564) 279 นักวิชาการและวิชาชีพอื่น อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อนุสรณ์ อุณโณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ถึง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวนนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯต้องปกป้องเสรีภาพและมาตรฐานทางวิชาการ โดย นักวิชาการ 239 คน นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 25 คน และบุคคลในสาขาอาชีพอื่นอีก 15 คน ดังมีรายชื่อข้างท้ายจดหมายฉบับนี้รู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งกับการดำเนินการตั้งแต่ต้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขอเสนอข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้มีอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว มีเนื้อหาบางส่วนว่า
1.นายณัฐพล ใจจริงผู้เขียนมิได้นิ่งนอนใจหรือบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง แต่ได้ตรวจสอบเอกสาร และชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ รวมถึงปรับแก้ข้อความที่ผิดพลาดดังกล่าวแล้ว
2. กรณที่ราชสกุลรังสิต ล้วนกล่าวไปในทางเดียวกันว่านายณัฐพลปั้นแต่งความเท็จในวิทยานิพนธ์ของตนว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร แทรกแซงการเมืองโดยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี อันเป็นการหยิบยกความผิดพลาดเพียงประเด็นเดียวมาโจมตีและขยายผลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ซ้ำร้ายยังเป็นความผิดพลาดที่นายณัฐพลได้ยอมรับและแก้ไขแล้วในหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ในวิทยานิพนธ์ รวมทั้งระบุว่า การโยงเรื่องวิชาการกับการล้มล้างสถาบัน และกล่าวหาว่านายณัฐพลว่ามีเจตนาบิดเบือนหลักฐาน จึงเป็นผลของอคติส่วนตัวและความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ตรวจสอบ ทั้งๆ ที่วิทยานิพนธ์และหนังสือของนายณัฐพลไม่ได้เสนอ หรือแม้แต่ชี้นำให้มีการยกเลิกหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด การโจมตีและโฆษณาขยายผลเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมต่อนายณัฐพลอย่างยิ่ง
3. การดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านมาหาได้ทำให้การค้นคว้าวิจัยทางวิชาการรัดกุมยิ่งขึ้นไม่ ในทางตรงกันข้ามสิ่งนี้สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะกระทบต่อการวิจัยด้านไทยศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรมีจุดยืนที่แน่วแน่ และชัดเจน ในการรักษาและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของสมาชิกประชาคมทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาทั้งของอาจารย์และนิสิต อันได้แก่เสรีภาพในการเรียนการสอนและการอภิปรายถกเถียง เสรีภาพในการดำเนินการวิจัยและการเผยแพร่และการตีพิมพ์ผลการวิจัย เสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างอิสระเกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานและศึกษาอยู่ และเสรีภาพจากการเซ็นเซอร์เชิงสถาบัน ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสสังคมและแรงกดดันจากกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด พวกเราจึงขอเรียนมายังท่านเพื่อโปรดพิจารณายุติการสอบสวนกรณีวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง เพื่อธำรงเกียรติภูมิแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ
ขณะที่ทางด้าน ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ ก็ได้ออกมาโต้ว่า ด้วยความเคารพต่อข้อเสนอและความเห็นของ 279 นักวิชาการที่เผยแพร่มาในช่วงนี้ ผมขอให้ 279 นักวิชาการกรุณาสละเวลาอ่านบทสัมภาษณ์ที่ผมให้สัมภาษณ์แก่ Way Magazine และเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ขอบคุณมากครับ