เปิดเหตุผลชัด!! “กลุ่ม 3 ช.” อกหัก ไม่ได้ผงาด จบปมกระหายเก้าอี้ อดนั่งตำแหน่งรมต.ใหม่ ตามความคาดหมาย

2574

หลังจากที่เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ที่ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดี ที่สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มกปปส. เมื่อปี 2556-2557 โดยพิพากษาจำคุก 3 รัฐมนตรีที่ยังดำรงตำแหน่ง

ส่งผลให้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีทันที ทำให้ 3 ตำแหน่งสำคัญดังกล่าวต้องว่างลง และได้มีการแต่งตั้งคนรักษาการแทนในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไปก่อนหน้านี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีเนื้อหาดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562 และประกาศครั้งสุดท้าย ลงวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2563 นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

1. นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
2. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
3. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

1. ให้นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

2. ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายสินิตย์ เลิศไกร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นางสาวตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 22 มีนาคม พุทธศักราช 2564 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

ทั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามอง หลังจากมีรัฐมนตรีใหม่ เข้ามามีบทบาทใน 3 กระทรวงสำคัญของชาติ คือการแลกเก้าอี้ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี​ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย​ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงรายชื่อรัฐมนตรีสัดส่วนพรรคภูมิใจไทยในการปรับคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ มีการสลับเปลี่ยนกระทรวงหรือไม่ ว่า ต้องรอพรรคภูมิใจไทยยื่นก่อน ส่วนจะมีการโยกย้ายหรือสลับปรับเปลี่ยนกันหรือไม่นั้น ขอย้ำว่าทุกอย่างอยู่ที่การพูดคุยเจรจา แต่คุยในหลักการแล้วคล้าย ๆ กับข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า​ การสลับตำแหน่งจะทำให้การทำงานในกระทรวงง่ายขึ้นใช่หรือไม่ นายอนุทิน ก็ตอบว่า “ผมคิดว่าคนของใครคนนั้นก็มาดูแล​ ทำงานได้เต็มที่​ เพราะถ้าเกิดแยกกันอยู่อีกฝั่งก็อาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น​ ความรับผิดชอบของใครก็ไปดูแลกัน มันก็มีเหตุมีผล​ คนที่ได้ประโยชน์จากการทำงานได้เต็มที่ไม่ใช่รัฐมนตรี​ แต่คือประชาชน จึงเป็นเหตุผลที่น่าจะทำได้แต่คนที่ตัดสินใจคือนายกฯ เราก็เสนอไป”

(นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล)

สำหรับนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ที่ได้ดำรงตำแหน่งล่าสุด เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นั้น สำเร็จการศึกษา จากศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมรสกับ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา และเคยดำรงตำแหน่ง กำนันต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง นครราชสีมา ได้รับรางวัล กำนันแหนบทองคำ 2 ปี เป็นประธานบริหารบริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮง จำกัด โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง ปี 2562

 

(นายสินิตย์ เลิศไกร)

ส่วนทางด้านนายสินิตย์ เลิศไกร ดำรงตำแหน่งล่าสุดเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยเป็นส.ส.สุราษฎร์ธานี 5 สมัย ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แทนนายถาวร เสนเนียม รมช. ที่พ้นจากตำแหน่ง จากคำพิพากษาศาลอาญา คดีกปปส. ขัดความการเลือกตั้ง

โดยเป็นโควต้าส.ส.ภาคใต้ ที่คณะกรรมการบริหารพรรค ลงมติเลือกด้วยคะแนนโหวต 33 คะแนน สูงสุดในบรรดาแคนดิเดตทั้ง 4 ราย

เป็นชาวพระแสง อายุ 58 ปี จบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคโนโลยีการเกษตร) วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เริ่มเข้าวงการการเมือง ด้วยตำแหน่ง ส.จ. อำเภอพระแสง ในปี 2538 ก่อนจะเลื่อนมาเล่นการเมืองระดับชาติ ได้รับการเลือกตั้งครั้งแรก ในปี 2544 อยู่กับประชาธิปัตย์มานานถึง 20 ปี รักษาเก้าอี้ได้ตลอด ทั้งการเลือกตั้งในปี 2548, 2550, 2554 และ 2562 ซึ่งทิ้งคะแนนห่างพลังประชารัฐกว่า 3 หมื่นคะแนนด้วยกัน

(นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์)

ส่วนนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ดำรงตำแหน่งล่าสุดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี สังกัดพรรคชาติไทย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องรับมือดูแลกับช่องทางโซเซียล ซึ่งผลงานเก่าของนายพุทธิพงษ์ ได้ทำการปราบปรามเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และแอคเคาท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำการจาบจ้วงสถาบัน การได้รับตำแหน่งใหม่ของนายชัยวุฒิ ครั้งนี้ จะต้องเน้นจัดการปัญหาเก่า ๆ ให้สิ้นซาก และเด็ดขาดกับกลุ่มจาบจ้วงสถาบันผ่านสื่อโซเชียลด้วย

 

(นางสาวตรีนุช เทียนทอง)

 

และนางสาวตรีนุช เทียนทอง ที่ดำรงตำแหน่งล่าสุด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นรมว.หญิงคนแรก ของกระทรวงศึกษาธิการ ประวัติของน.ส.ตรีนุช นั้น โดดเด่น
เคยเป็นทั้ง รองโฆษก กระทรวงวัฒนธรรม
ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.สิริกร มณิรินทร์)
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชูชีพ หาญสวัสดิ์)
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายสรอรรถ กลิ่นประทุม)
เหรัญญิก คณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติในสหภาพรัฐสภาเอเซียและแปซิฟิก (APPU)
ผู้ช่วยเลขานุการกรรมาธิการท่องเที่ยว
โฆษกกรรมาธิการการท่องเที่ยว
ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว 5 สมัย
และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลำดับที่ 55 ของไทย

การขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ ถือเป็นความท้าทาย ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษา แต่ต้องรับมือกับม็อบนักเรียน ที่สมัยของนายณัฏฐพล ก็เคยต้องรับมือมาแล้ว โดยล่าสุดในเช้าวันนี้ (24 มี.ค.) กลุ่มนักเรียนเลว ก็เตรียมรับน้องรัฐมนตรีใหม่ทันที โดยได้โพสต์ภาพของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ พร้อมข้อความระบุว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่แกะกล่องจากพลังประชารัฐ : ตรีนุช เทียนทอง วีรกรรมที่สำคัญ ปัดตกการเสนอให้มีคณะกรรมาธิการผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ไม่เห็นด้วยในการตั้งกมธ.วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากม.44, ไม่เห็นด้วยในการตั้งกมธ.วิสามัญ ศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต

สุดท้ายแล้วอนาคตของนักเรียนไทยก็เป็นเพียงเค้กก้อนหนึ่งที่ผู้ใหญ่แบ่งกันไปแบ่งกันมา เมื่อคุณตรีนุชได้รับเค้กชิ้นนี้ไปแล้ว ก็อย่ากินมูมมามนะคะ #นักเรียนเลว”

อย่างไรก็ตามกระแสก่อนหน้านี้ การแต่งตั้ง 3 รัฐมนตรีใหม่ ดูเหมือนว่า ตำแหน่งนั้นจะเป็นของกลุ่ม “3 ช.” ที่ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ , นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ซึ่งในรายการพิเศษเฉพาะกิจ ที่นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และดร.เวทิน ชาติกุล 2 บุคคลสำคัญของสถาบันทิศทางไทย ได้เคยออกมาวิเคราะห์ถึงประเด็นร้อนนี้ไว้แล้วว่า

พลังประชารัฐแตกแน่ บรรยากาศข้างในเวลาบอกว่าเป็นเอกภาพ ๆ แต่ขอพูดกันด้วยหัวใจ ว่ารัฐบาลนี้อยู่มาได้ ก็เพราะกปปส. ไมได้ทวงบุญคุณ แต่อยากให้เข้าใจ วันนี้ต้องพูดถึงคนที่เสวยอำนาจอยู่ และอยาจะพูดถึง 3 กีบที่จะต้องเรียงหน้ากันเข้าคุก เมื่อโดดลงมาเล่นแบบนี้ก็ต้องรู้ ต้องเข้าใจ

อยู่ ๆ จะลอยมาเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเลย ถ้าไม่ใช้โควต้าท่านนายกฯ ลำบากแน่ เพราะ 2 ตำแหน่งนี้เป็นโควต้าพรรค ให้จับตา 3 รัฐมนตรีช่วย “ธรรมนัส-นฤมล-สันติ” 3 คนนี้อยากเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระแสสังคมต่างก็กดดัน เพราะทั้ง 3 คนนี้ ไม่มีความเหมาะสมมากพอ กับตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่

แต่จากเอกสารของราชกิจจาฯที่เผยแพร่รายชื่อรัฐมนตรีใหม่ ทำให้รู้แน่ชัดแล้วว่า กลุ่ม “3 ช.” หมดสิทธิ์ที่จะเข้ามามีบทบาทใหญ่ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า การที่ “นายกฯ” ไม่เสนอรายชื่อทั้ง 3 คนนั้น เพราะไม่พอใจที่นายธรรมนัส เป็นตัวตั้งตัวตี ในการนำพรรคพลังประชารัฐ ล่ารายชื่อ 90 ส.ส. เพื่อค้านคนนอกนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แม้ว่านายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จะให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า กลุ่ม “3 ช.” ไม่ใช่คนต้นคิดก็ตาม นอกจากนี้ยังมีนัยยะสำคัญจากพล.อ.ประวิตร ที่ต้องการกระจายอำนาจในพรรค เพื่อมีการบริหารตามความเหมาะสมในพรรค พร้อมกดอำนาจและลดบทบาทของ “กลุ่ม 3ช.” ไม่ให้มีบทบาทในพรรคมากจนเกินไป