จีนไม่ปลื้ม?!?TikTokร่วมทุนออราเคิล ยันไม่ยอมให้สหรัฐชิงไปง่ายๆ จับตา!!สุดท้ายล้มโต๊ะหรือไปต่อ?

1926

ข่าวสะพัดปิดดีลบรรลือโลก ออราเคิลปาดหน้าไมโครซอฟท์ชิงร่วมทุนTikTok สำเร็จ ทรัมป์ไม่พอใจไม่รับรองต้องการส่วนแบ่งด้วย แต่จีนคำรามจะไม่ยอมให้สหรัฐข่มขู่บังคับเอาทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นอย่างง่ายดาย ทำอ้าปากค้างไปตามๆกันว่า ผลจะจบลงอย่างไร จะได้ไปต่อหรือต้องล้มโต๊ะเจรจา แม้จะผ่านทางปธน.ทรัมป์ได้เพราะออราเคิลเป็นผู้สนับสนุนคนโปรด แต่ไม่แน่ว่าจะผ่านกฎหมายข้อจำกัดการส่งออกของจีนไปได้

สงครามเทคยกสองยังไม่จบง่ายๆ-TikTok/WeChat

ทรัมป์ ออกคำสั่งพิเศษเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2563 ขีดเส้นตายให้ไบต์แดนซ์ต้องขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทเทคโนโลยีสันชาติอเมริกันภายในวันที่ 20 ก.ย. ไม่เช่นนั้นก็จะถูกแบน

TikTok จึงกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งสงครามเทคฯระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ตามรอยHuawei ตั้งแต่ต้นสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งฝ่ายบริหารขีดเส้นตายให้บริษัททั้งหลายของสหรัฐฯ ยุติการทำธุรกิจกับไบต์แดนซ์ และบังคับต้องขายกิจการของติ๊กต็อกในสหรัฐให้บริษัทเทคสัญชาติอเมริกันภายในวันที่ 20 กันยายน โดยอ้างว่า TikTokอาจเป็นเครื่องมือของจีนในการติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลผู้ใช้เพื่อแบล็กเมล์และสอดแนมธุรกิจ เป็นปัญหาความมั่นคงชาติ

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้เอง  กระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกกฎใหม่เพิ่มรายชื่อเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ด้านพลเรือนในรายชื่อสินค้าที่จำกัดการส่งออก ทำให้ไบต์แดนขายธุรกิจติ๊กต็อกให้บริษัทอเมริกันได้ยากขึ้น และไบต์แดนซ์ประกาศในเวลาต่อมาว่า จะปฏิบัติตามกฎใหม่นี้อย่างเคร่งครัด

ในช่วงเวลาเดียวกัน TikTokได้ยื่นฟ้องศาลสหรัฐฯ ชูข้อกล่าวหาว่า คำสั่งของทรัมป์เป็นการใช้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศในทางมิชอบ(International Emergency Economic Powers Act)  เนื่องจากแพลตฟอร์มของบริษัทไม่ถือเป็นภัยคุกคามที่ไม่ปกติต่อความมั่นคงของสหรัฐฯแต่อย่างใด และศาลรับเรื่องไว้พิจารณา

ใครเป็นใครในดีลก้องโลก-ใครชนะในเกมส์

บริษัทออราเคิล(Oracle) มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการจัดการและปกป้องข้อมูล แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านโซเชียลมีเดีย และลูกค้าเป็นบริษัทภาคธุรกิจมากกว่าผู้บริโภค ปัจจุบัน ข้อมูลผู้ใช้ของติ๊กต็อกจัดเก็บอยู่ในระบบคลาวด์ของอัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล การร่วมทุนกับไบแดนซ์สำเร็จจะทำให้บริษัทขยายต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างครบถ้วน และทั้งมีโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนได้ในอนาคต

ออราเคิล เอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ไมโครซอฟท์’ ด้วยการยื่นข้อเสนอจับมือกับ TikTok ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วน จุดประกายความหวังที่แอปฯ แชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมสัญชาติจีนจะสามารถสานต่อธุรกิจในอเมริกาต่อไปได้กล่าวคือร่วมทุนกันแล้ววิน-วินทั้งสองฝ่าย

บริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok ในจีนได้เปิดเจรจาข้อตกลงทางธุรกิจกับทั้งไมโครซอฟท์,ออราเคิลและวอลมาร์ท หลังจากปธน.ทรัมป์ผู้นำสหรัฐฯ ออกคำสั่งเด็ดขาดเมื่อเดือน ส.ค. บังคับให้ไบต์แดนซ์ต้องขายกิจการ TikTok ให้บริษัทเทคโนโลยีในอเมริกาและต้องจ่ายภาษีรายได้ให้สหรัฐด้วย

บริษัทไมโครซอฟท์ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ก.ย.2563 ว่า ข้อเสนอซื้อกิจการ TikTok ของตนถูกไบต์แดนซปฏิเสธแล้ว ทำให้ออราเคิลกลายเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวที่เหลืออยู่ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งทรัมป์ขู่จะระงับปฏิบัติการของ Tiktok วอลล์สตรีทเจอร์นัล และนิวยอร์กไทม์ส เป็นสื่อรายแรกๆ ที่ออกมาเผยว่าออราเคิลคือผู้ชนะในศึกทางธุรกิจครั้งนี้ ขณะสื่อจีนทั้ง CGTN และ ไชน่า นิวส์ เน็ตเวิร์ก อ้างแหล่งข่าวว่า ไบต์แดนซ์ไม่คิดขายกิจการ TikTok ให้กับทั้งไมโครซอฟท์ และออราเคิล

อย่างไรก็ตาม ไบต์แดนซ์ ออกมาแถลงยืนยันเมื่อวันจันทร์ที่14 ก.ย.2563 ว่าได้ยื่นข้อเสนอเป็นหุ้นส่วนกับออราเคิลถึงกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของคณะบริหารปธน.ทรัมป์ ได้ และเปิดทางให้ TikTok สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้ราว 100 ล้านคนในอเมริกาต่อไป ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างไบต์แดนซ์และออราเคิลจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งทำเนียบขาว, คณะกรรมการด้านลงทุนต่างชาติของสหรัฐฯ (CFIUS) รวมถึงรัฐบาลจีนด้วย

แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์ว่า ภายใต้ข้อเสนอล่าสุดของไบต์แดนซ์ ออราเคิลจะได้รับสิทธิบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้ TikTok ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บไว้ในระบบคลาวด์ของ อัลฟาเบ็ต อิงก์ และมีฐานข้อมูลแบ็กอัปอยู่ในสิงคโปร์ ขณะที่ออราเคิลเองก็กำลังเจรจาขอซื้อหุ้นส่วนน้อยใน TikTok ด้วย ทั้งนี้ ผู้ลงทุนรายสำคัญในไบแดนซ์ เช่น เจเนอรัล แอตแลนติก (General Atlantic) และซีคัวยา (Sequoia) ก็ต้องการร่วมถือหุ้นส่วนน้อยใน TikTok เช่นกัน

-เจฟฟรีย์ ทาวสัน อาจารย์ด้านการลงทุนจาก Guanghua school of management มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ว่า การเป็นหุ้นส่วน TikTok ในอเมริกาจะช่วยให้ออราเคิลสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหลักของไบต์แดนซ์ แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรงก็ตาม ซึ่งก็คล้ายกับรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทตะวันตกหลายแห่งในจีน 

-สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ บอกกับ CNBC เมื่อวันจันทร์ (14) ว่า ตามข้อเสนอที่ยื่นมานั้น ไบต์แดนซ์จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TikTok และจะเปิดสำนักงานใหญ่ในอเมริกาซึ่งมีการจ้างงานมากถึง 20,000 ตำแหน่ง ซึ่ง CFIUS จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวในสัปดาห์นี้ และจะจัดทำข้อเสนอแนะถึงปธน.ทรัมป์ ต่อไป

-พอล มาร์ควอร์ด ทนายความจาก Cleary Gottlieb Steen & Hamilton LLP วิจารณ์กระบวนการพิจารณาดีลระหว่าง TikTok กับออราเคิลว่า “ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา เพราะดูเหมือนจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองมากกว่าผู้เชี่ยวชาญจาก CFIUS” ขณะที่ ดีเร็ก ซิสเซอร์ส จากสถาบันคลังสมอง American Enterprise Institute ก็เตือนว่าคณะบริหารปธน.ทรัมป์ ไม่ควรนำเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องในวงการธุรกิจมาเป็นประเด็นการเมือง

ทรัมป์ไม่ปลื้ม-จีนไม่ปลื้ม แต่ไบแดนซ์OK

-หลังข่าวดีลนี้ออราเคิลชนะ ปธน.ทรัมป์ ยังไม่ถูกใจออกมาเปรยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรได้รับ “ส่วนแบ่งพอสมควร” จากข้อตกลงซื้อขายกิจการ TikTok ที่จะมีขึ้น ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ต่างอะไรกับการขู่กรรโชกทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งในวันพุธที่ 16 ก.ย.2563 ว่ายังไม่พร้อมที่จะเห็นชอบข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างออราเคิลกับไบต์แดนซ์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ไบต์แดนซ์จะยังคงถือหุ้นใหญ่ใน TikTok ในขณะที่ออราเคิลเป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อย “เราไม่ชอบความคิดนั้นเลย ผมบอกกับคุณได้เลยว่า ผมไม่ชอบ”, “ตราบใดที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ มันจำเป็นต้องดี 100% และผมไม่ได้เตรียมการลงนามอนุมัติใดๆ ผมจำเป็นจะต้องเห็นข้อตกลงก่อน”

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องข้อตกลงซื้อขาย TikTok ในอเมริกาเมื่อวันจันทร์ (14) เพียงแต่วิจารณ์ว่า TikTok ถูกสหัฐต้อนให้จนมุม และถูกข่มขู่ให้ต้องขายกิจการในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์ “สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และปราศจากการแบ่งแยกกีดกันให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนและดำเนินกิจการในอเมริกา” รัฐบาลปักกิ่งยอมที่จะให้ TikTok ปิดตัวในอเมริกาดีกว่าถูกสหรัฐฯ ปล้นทรัพย์สินทางปัญญาหรือบังคับขายกิจการ ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์อ่อนแอให้กับทั้งไบต์แดนซ์และจีน

พอล ทริโอโล นักวิเคราะห์ของยูเรเซีย ตั้งข้อสังเกตว่า หากไบต์แดนซ์สามารถดึงออราเคิลมาเป็นพันธมิตร โดยที่ตนเองยังคงเป็นเจ้าของ TikTok อยู่ ก็เท่ากับว่าไม่ได้มีการขายกิจการให้บริษัทอเมริกันอย่างที่ ทรัมป์ เรียกร้อง ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่จีนพอรับได้ แต่ พอล แฮสเวลล์ หุ้นส่วนบริษัทกฎหมาย พินเซนต์ เมสันส์ ในฮ่องกงชี้ว่า ต่อให้สหรัฐฯ ยอมอนุมัติดีลระหว่างไบต์แดนซ์กับออราเคิล ก็ยังต้องจับตามองต่อไปว่าทั้งสองบริษัทจะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการส่งออกของจีนได้หรือไม่?