ฟาด “สมาคมสื่อฯ” แนวร่วมม็อบล้มเจ้า? ปิดปากเงียบ ม็อบใช้ความรุนแรง บุกเข้าเขตพระราชฐาน!?!

2396

6 องค์กรสื่อฯ ออกแถลงการณ์ การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงม็อบว่าใช้ความรุนแรง!?!

จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มรีเดม เมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้สื่อข่าวหลายคนโดนกระสุนยางยิงบาดเจ็บ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่รายงานข่าวว่า

จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณท้องสนามหลวงเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยาง จนเป็นเหตุให้มีนักข่าวและช่างภาพที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายรายตามที่ทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบด้วยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะถึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธ และการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย

2. การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน โดยก่อนการปฏิบัติการต่างๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

3. ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน

4. องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอเน้นย้ำว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ชุมนุมควรใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ทุกครั้ง แต่ต้องเข้าใจว่าปลอกแขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือในการป้องกันกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตด้วย

ทั้งนี้ ในภาพที่ปรากฎในวันที่มีการชุมนุม 20 มีนาคม ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ใช้ขาโต๊ะเหล็ก แผงกั้นจลาจร ขว้างใส่เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนมีการจุดไฟเผา ปาระเบิด มีเหตุการณ์การยิงกันระหว่างผู้ชุมนุมเอง รวมถึงมีการทุบทำลายรถตู้ของตำรวจ สน.พหลโยธิน จนพังยับทั้งคัน ก่อนตำรวจจะตัดสินใจนำรถน้ำแรงดันสูงฉีดสกัดเพลิง แล้วสั่งให้ชุดจับกุมเคลื่อนกำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมทันที อีกทั้งยังปรากฎภาพการ์ดม็อบถืออาวุธอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า แถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น ไม่มีการพูดถึงม็อบว่ามีการใช้ความรุนแรง และไม่กล้าฟันธงว่าม็อบจงใจที่จะพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ และทางกลุ่มผู้ชุมนุมยังมีการปาสิ่งของเข้าไป พยายามที่จะเข้าไปในพื้นที่เขตพระราชฐาน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าถ้าเข้าไปก็จะเกิดการจับกุมขึ้น แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามยั่วยุเจ้าหน้าจนทำให้เกิดการปะทะ ซึ่งหลายคนมองว่า ถ้าหากสื่อเสนอความจริงไม่ครบทุกด้าน หรือมีการบิดเบือนข้อมูลและสื่อไปถึงพี่น้องประชาชน ต่อไปสังคมจะเกิดความวุ่นวายและเกิดความแตกแยกหรือไม่