ย้อนพฤติกรรม เพนกวิน เคยละเมิดศาล ลั่นสัญญาไม่ทำอีก ขณะล่าสุดสารภาพเพราะศาลเปิดCCTVมัดดิ้นไม่หลุด

2752

ศาลอาญา มีคำสั่งให้ลงโทษ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ปฏิบัติตัวไม่เรียบร้อยระหว่างการพิจารณาคดี โดยจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน แต่เจ้าตัวให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง สั่งกักขัง 15 วัน

วานนี้ (22 มี.ค. 2564) ศาลอาญา รัชดาภิเษก ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา หรือ ผอ.ศาลอาญา กล่าวหา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยคดี ม.112 และความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาได้นัดตรวจพยาน หลักฐานคดีชุมนุมที่ท้องสนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 และอัยการขอให้รวมสำนวนคดี ปรากฏว่ามีรายงานว่านายพริษฐ์ปฎิบัติตัวไม่เรียบร้อย โต้ตอบผู้พิพากษาในขณะปฎิบัติหน้าที่ ขออ่านแถลงการณ์ แม้ถูกคัดค้านก็ไม่ยอมฟัง ยังยืนยันอ่านแถลงการณ์โดยลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมีคนเขวี้ยงขวดนำลงพื้น ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านั้น

โดยนายพริษฐ์เดินทางมาศาลด้วยการนั่งรถเข็นวีลแชร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3-4 เป็นผู้พามาศาล โดยมีทีมพยาบาลจาก รพ.ราชทัณฑ์ 2 คน มาคอยดูแลอาการจากการที่ประท้วงอดข้าวอดอาหารมาหลายวันแล้ว โดยนายพริษฐ์ท่าทางอ่อนเพลีย ต้องดมยายดมเป็นระยะ

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านข้อกล่าวหาของ ผอ.ศาล ให้นายพริษฐ์ ฟังจนเป็นที่เข้าใจ ประกอบกับมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุในห้องพิจารณาคดี และได้สอบถามนายพริษฐ์จะให้การว่าอย่างไร ซึ่งนายพริษฐ์ได้ขอเวลาระบายความอึดอัดใจไปพร้อมกับการแถลง โดยศาลอนุญาตให้นายพริษฐ์แถลงได้ภายในเวลา 5 นาที

เมื่อนายพริษฐ์ ลุกขึ้นยืนแถลงศาลเกี่ยวกับความอึดอัดที่ไม่ได้รับการประกันตัวใน 2 คดีที่ถูกฟ้อง พร้อมแถลงด้วยวาจาว่า ตัวเองได้ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว เมื่อ 2,000 ปี ก่อนหน้านี้ โซเครติส ถูกประหารชีวิตด้วยยาพิษ เพราะศาลเมืองเอเธนส์ บอกว่า โซเครติส มอมเมาคนรุ่นใหม่เป็นอาชญากรร้ายแรงทางความคิด ต่อมา กาลิเลโอ ก็ถูกกักขังจนตาย จากการเสนอทฤษฎีว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงไม่อยากให้มีการทำผิดพลาดซ้ำรอยประวัติศาสตร์โลก

ซึ่งศาลได้ปรามนายพริษฐ์ ขอให้แถลงให้ตรงประเด็นการไต่สวนวันนี้ซึ่งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ถ้าแถลงไม่ตรงประเด็นศาลจะสั่งงดไต่สวน แต่นายพริษฐ์อ้างว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และแถลงด้วยวาจาต่อว่า ถูกปฎิเสธสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีใด ๆ โดยศาลให้เหตุผลว่ากลัวกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินว่าการกระทำของตนเองเป็นความผิดแต่อย่างใด ทั้งยังบอกว่าตนไม่ควรได้สิทธิประกันตัว เพราะไปเหยียบย่ำหัวใจคนไทย เท่ากับว่าศาลได้ตัดสินให้มีความผิดแล้ว จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกปฏิบัติแบบนักโทษ ไม่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของตนเอง ที่ยังเป็นนักศึกษา ไม่สามารถไปเล่าเรียนได้ตามปกติ ต้องเข้าห้องสมุดหาหนังสือวรรณกรรมชั้นเลิศอ่านทั้งนี้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี ถ้าหากตนเองจะถูกลงโทษก็ไม่เสียใจ เพราะยังไงตอนนี้ก็ถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว

จากนั้นศาลได้สอบถามนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความว่า อยู่ในห้องพิจารณาวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่ โดยนายกฤษฎางค์ตอบว่า วันนั้นมีจำเลยที่ได้รับความเดือดร้อนหลายคนแย่งกันพูดหลายรอบหลายหน ในส่วนของนายเพนกวิน ไม่ได้เกลียดชังศาล แต่ต้องการอธิบายเหตุผล และความอึดอัดใจที่ไม่ได้รับประกันตัว

จากนั้นศาลได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพในห้องพิจารณาคดีขณะเกิดเหตุ ภายหลังเปิดภาพกล้องวงจรปิดได้ราว ๆ 5 นาที ทนายความได้ไปปรึกษาคดีกับเพนกวิน จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลบอกว่า นายเพนกวินยอมรับว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากสิ่งอัดอั้นที่อยู่ในใจเรื่องไม่ได้รับการประกันตัว

ต่อมาศาลได้อ่านคำสั่ง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า นายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดตอบโต้กับผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาและขออ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมาผู้พิพากษาจึงได้อธิบายสิทธิของจำเลยและการประพฤติตนในห้องพิจารณาคดีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันที่จะอ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงไม่อนุญาตและออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาและสั่งให้ตำรวจศาลนำตัวผู้ถูกกล่าวหาออกไปจากห้องพิจารณา แต่มีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น ผู้พิพากษาจึงพักการพิจารณาชั่วคราว

ระหว่างนั้นผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนขึ้นอ่านคำแถลงการณ์และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในห้องพิจารณาตามคำกล่าวหา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ มาตรา 180 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษ จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน

ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิด และความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือนและไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน

ทั้งนี้ ช่วงเวลา 20.00 น. ทวิตเตอร์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายพริษฐ์ออกจากเรือนพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปคุมขังที่สถานกักขังกลางปทุมธานี โดยใช้รถตู้กรมราชทัณฑ์ ซึ่งการย้ายสถานคุมขังดังกล่าวไม่ได้แจ้งต่อทนายความ หรือครอบครัวของนายพริษฐ์ ว่าเหตุใดจึงย้ายสถานที่คุมขัง ขณะที่ครอบครัวติดตามไปที่สถานกักขังกลางปทุมธานี ทราบเบื้องต้นว่า เป็นการคุมขังตามโทษที่ศาลอาญาสั่งลงโทษเหตุละเมิดอำนาจศาล

จากกรณีดังกล่าวพบว่า เมื่อย้อนไปช่วง 28 ต.ค. 2563 นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายพริษฐ์ เปิดเผยผลการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีไลฟ์สดในพื้นที่ศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก ว่า ภายหลังศาลไต่สวน นายพริษฐ์ ได้แถลงต่อศาล โดยรับสารภาพผิด พร้อมขอโทษและเสียใจที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงละเมิดศาล ซึ่งศาลไม่ติดใจเอาความ เพราะเห็นว่าผู้ต้องหายังเป็นเยาวชน อยู่ในวัยเรียน จึงลงโทษว่ากล่าวตักเตือนและให้ผู้ต้องหาปฏิญาณตนว่าจะไม่กระทำอีก และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมของนายพริษฐ์จะพบว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายพริษฐ์ละเมิดอำนาจศาล ครั้งก่อนก็ปฏิเสธก่อนรับสารภาพผิด พร้อมขอโทษและเสียใจที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงละเมิดศาล ซึ่งในครั้งนั้นศาลไม่ติดใจเอาความ เพราะเห็นว่าผู้ต้องหายังเป็นเยาวชน จึงลงโทษว่ากล่าวตักเตือนและให้ผู้ต้องหาปฏิญาณตนว่าจะไม่กระทำอีก และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อนายพริษฐ์สารภาพผิด ศาลก็ลดโทษให้เหลือจำคุก 15 วัน