ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวมีทางออก?!? หนี้กว่า 1 แสนลบ.รฟม.ขอบริหารต้องรับหนี้คืน ถ้าให้BTS รับหนี้แทนก็ต่อสัญญา??

2340

ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับ รถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่ และล่าสุดบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสชะลอการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวในวันที่ 16 ก.พ. 2564 ออกไปก่อนนั้น ทางบีทีเอสยืนยันที่จะให้บริการฟรีสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางระหว่าง 25 สถานี ได้แก่ สถานี หมอชิต (N8) – คูคต (N24) จำนวน 16 สถานี และแบริ่ง (E14) – เคหะฯ (E23) จำนวน 9 สถานี

นี่ก็ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้วว่า จะต่อสัญญาสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยเฉพาะส่วนต่อขยายหรือไม่ ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาจนโครงการสร้างเสร็จแล้ว รถโดยสารวิ่งแล้ว คนไทยได้นั่งฟรีมาตั้งแต่เปิดบริการเมื่อเดือนธันวาคม 2563 มาจนถึงวันนี้ มีค่าใช้จ่ายเบื้องหลังทุกวัน หนี้สินพอกพูนทุกวัน ดอกเบี้ยเพิ่มทุกวัน แต่รัฐบาลซึ่งเป็นเจ้าของโครงการยังไม่ยอมฟันธงว่าจะตัดสินใจอย่างไร? ในที่สุดภาระหนี้ที่งอกเงยทุกวันใครจะรับผิดชอบจ่าย

มาดูความเป็นมาของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมี 3 ช่วง คือ สายสีเขียวหลัก คือเอกชน หรือบีทีเอส สร้างราง และวางระบบเดินรถ บริหารเดินรถทั้งหมด ถือเป็นสายเดียวที่สร้างเองทั้งหมดแห่งเดียวในโลก และจะสร้างกำไรจากค่าโดยสารเท่านั้น ระยะเวลา 30 ปี คือ 2542-2572 จากนั้นเมื่อหมดสัมปทานต้องคืนให้ กทม.

ต่อมาคือส่วนต่อขยายที่ 1 คือ กทม. ไปสร้างเอง และจ้างบีทีเอสเดินรถ โดย กทม.ไม่มีรถไฟฟ้า จึงควรให้สัมปทาน แต่มีบางรัฐบาลไม่ยอมให้สัมปทาน ก็สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ 

มาถึงส่วนต่อขยายที่ 2 อยู่นอกกรุงเทพฯ รัฐบาลยุคหนึ่งก็โอนไปให้ รฟม. สร้างและออกแบบ ทำพิลึกไม่เชื่อมโยงกับส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งถือว่าผิด เพราะไม่เชื่อมต่อประชาชนใช้บริการต้องเดินลงจากสายหนึ่งไปต่ออีกที่ทั้งๆที่สายเดียวกัน อันที่จริงแล้วต้องให้ กทม. สร้าง ถือเป็นปัญหาบิดเบี้ยวกันมา กระทั่งมีการโอนส่วนต่อขยายที่ 2 กลับมาให้ กทม. แต่พร้อมภาระหนี้สินก้อนใหญ่กว่า 1 แสนล้านบาท

ทีนี้มาดูกันว่าทางออกเรื่องนี้น่าจะเป็นอย่างไร?

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงในสภาฯ ตอบคำถามฝ่ายค้านไว้อย่างชัดเจนว่า การที่คณะคสช.ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTSC เป็นการหาทางออกลดภาระให้กับประชาขนรื่องหนี้สินเพราะโครงการแบกหนี้จำนวนมากตอนอยู่ในการบริหารของรฟม. โอนมาให้กทม.รับผิดชอบก็มีเงื่อนไขว่า กทม.ต้องรับหนี้ไปด้วยและกทม.ไปเจรจาบริษัทเอกชนก็มีแต่กลุ่มBTSที่ยอมรับเงื่อนไข เอาหนี้ไปด้วยและยังต้องแบ่งประโยชน์คืนให้กทม.ด้วย จึงตกลงจะต่อสัญญาไปอีก 30 ปี แต่ท้ายสุดกระทรวงคมนาคมมาร้องค้านเรื่องจึงยืดเยื้อมาจนข้ามปี

รมว.มหาดไทยชี้แจงเรื่องหนี้สินที่กทม. รับมาจากรฟม. ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายที่2 เกือบ 1 แสนล้านบาท และ ส่วนต่อขยายที่1 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและตั้งคำถามว่าใครจะแก้ไข?  รัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนได้เพราะติดปัญหา กฎหมายท้องถิ่น ดังนั้นกทม. ต้องแก้ไขเอง จะกู้เงินก็ไม่ได้เพราะเลยกรอบกฎหมายหนี้สาธารณะของกทม. ส่วนจะออกตราสารหนี้ ก็ทำไม่ได้ เพราะติดสัมปทาน และการเดินรถขาดทุน สุดท้ายเหลือการให้เอกชนเข้ามาช่วยแบกรับ ก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่จะทำอย่างไรจะไม่ให้เอื้อประโยชน์ ไม่ใช่บอกว่าเอกชนไปรับหนี้บอกว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ แต่ตนจะบอกว่าไม่มีเอกชนอื่นทำได้ เพราะโครงการสายสีเขียวทั้งหมดบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้น และ เป็นปัญหาจะต้องแก้และหากไม่ทำเกิดการฟ้องร้องแล้วจะต้องเสียค่าโง่กันอีก

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า “ถามว่าทำไมรีบต่อสัญญาสัมปทาน เพราะหากปล่อยให้ครบสัญญาปี 2572 หนี้ก็มากขึ้น คสช.จึงหาทางแก้โดยออกมาตรา44 คือแก้ที่เวลา เพราะเวลาทำให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น และไปทำอย่างไรมาก็ได้เพราะกทม.ไม่มีเงิน แต่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ ค่าโดยสารไม่แพงเหมาะสมกับประชาชน และเป็นธรรมกับเอกชน และ คสช. ให้มีข้อตกลงคุณธรรม จนมาถึงทั้งหมดจบหรือยัง กระทั้งคณะกรรมการ เจรจาจบแล้ว เพื่อนำเข้าครม.เพื่อเห็นชอบ และ ยืนยันตนนำเรื่องเข้าครม.ไม่ได้มีนอกมีใน เพราะอัยการสูงสุดก็บอกสามารถทำได้ และ ได้ส่งเรื่องไปที่ครม.แล้วตั้งแต่เดือนก.ย. 2562” 

ขณะประเด็นเรื่องราคาที่ว่าสายสีเขียวแพงกว่าสายสีน้ำเงิน คือสีเขียวเก็บ 65 บาท สีน้ำเงินเก็บ 42 บาท ขอให้ดูระยะทางควบคู่กับการสนับสนุนจากรัฐซึ่งสายสีเขียวเอกชนลงทุนเอง แบกหนี้เก่าของรฟม.ที่โอนมาให้กทม. แล้วยังต้องแบ่งเงินให้รัฐอีกรัฐไม่ได้สนับสนุนค่าลงทุนด้วย แต่สายสีน้ำเงินรัฐร่วมลงทุนเอกชนไม่ได้ลงทุนทั้งหมดไม่ต้องแบกหนี้ของรฟม.   ดังนั้นการจะเอื้อหรือไม่เอื้อต้องดูว่าเป็นธรรมหรือไม่ ประเทศชาติ และ ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่? ส่วนค่าโดยสารก็ต้องดูจากต้นทุนที่แท้จริงว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร

ก็ชัดเจนว่าปัญหาที่แท้จริงของการจะต่อสัมปทานหรือไม่อยู่ตรงนี้ คือ “ปัญหาหนี้สินคงค้างซึ่งมาจากรฟม.นั่นเอง” แต่ดูเหมือนรฟม.อยากจะขอนำกลับมาทำใหม่ เพราะแถลงต่อสาธารณชนว่าจะตั้งต้นใหม่จะทำให้ราคาถูกลงได้กว่านี้ อ้าวแล้วหนี้เก่าก็ฝีมือบริหารของรฟม.มิใช่หรือ เอากลับมาประชาชนก็ต้องเสียภาษีล้างหนี้ก้อนนี้ใช้ไหม? กว่า 1 แสนล้านบาทเชียวนา

หนี้ 3 ก้อนเจ้าปัญหาที่กทม.รับโอนมาจากรฟม.มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่?

1.หนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่กทม.ต้องรับมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้น 55,704 ล้านบาท ดอกเบี้ย 13,401 ล้านบาท รวม 69,105 ล้านบาท

2.หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,248 ล้านบาท ที่กทม.ต้องจ่ายให้บีทีเอส และมีกำหนดจ่ายภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้ป่านนี้ยังไม่มีข้อสรุป

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 9,377 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 600 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ที่บริษัทเอกชน BTSC จะยื่นทวงเงินได้ แต่BTSC ยังผ่อนปรนยังไม่ฟ้อง แต่ถ้าโอนกลับไปให้รฟม.ทำอีก ก็อย่าแปลกใจว่าคงต้องฟ้องร้อง ไม่สามารถปล่อยให้ยืดเยื้อ กลายเป็นว่าคนไทยต้องมาจ่ายหนี้ก้อนหนี้จากหนี้สินคงค้างหลายเรื่องเลย

คำครหาที่ปิดกันให้แซด เรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถูกนำมาใช้ต่อรองทางการเมืองจริงหรือไม่ ไม่รู้  แต่เมื่อมี “2 บริษัทยักษ์ใหญ่” วางเดิมพันการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง “1 บริษัทยักษ์ใหญ่” ผู้ดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียว แสดงเจตจำนงค์ชัดเจนว่า ต้องการเข้าร่วมประมูลด้วย แต่อีก “1 บริษัทยักษ์ใหญ่” ที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจที่ดูแลรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ต้องการที่จะคว้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไปดำเนินการเช่นกัน ทำให้เกิดศึกระหว่าง “ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่” กระทบชิ่งไปยังศึก “พรรคร่วมรัฐบาล” จนทำให้เป็นศึก 3 เส้า ของนักการเมืองไป โดยมีกระแสข่าวมาตลอดว่า ปัญหาคาราคาซังโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีอุปสรรคอยู่ที่การแบ่งเค้กที่ไม่ลงตัวเสียที?? นี่ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นกระแสครหาความไม่โปร่งใส ที่รัฐบาลไม่ควรเพิกเฉย

ณ เวลานี้รัฐบาลควรมีคำตอบได้แล้วว่า จะตัดสินใจกันอย่างไร? จะมาทุ่มเถียงกันเรื่องราคา ก็ไร้ประโยชน์ เพราะราคา กำหนดจากต้นทุน จะเปรียบเทียบว่ารถไฟฟ้าสีไหนถูกหรือแพง ต้องพูดด้วยว่าต้นทุนที่มาเหมือนกันหรือไม่ มิเช่นนั้นจะเป็นการพูดความจริงไม่ครบ ทำชาวบ้านเข้าใจผิด จนลืมเรื่องที่ต้องจ่ายหนี้ก้อนใหญ่ไป

คำถามใหม่ที่เริ่มวิจารณ์กันแซดคือ “รฟม.บริหารโครงการอย่างไร ทำให้ขาดทุนนับแสนล้าน จนต้องหาเอกชนมาช่วยแบก เวลาผ่านไปกลับลืมประเด็นนี้เสียสิ้น เอากลับมาใหม่จะไม่ขาดทุนอีกหรือ มีอะไรเป็นหลักประกัน” สำหรับกทม.ที่ไปรับเผือกร้อนมาแท้ๆจะทำอย่างไร ทำไมไปรับหนี้เน่ามาโยนให้เอกชน ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เม้าท์กันไม่เลิก??