รัฐบาลดันแผนเร่งด่วน!?! “แก้หนี้-มีเงินใช้-มีงานทำ” มั่นใจฟื้นศก.ช่วยชีวิตปชช.ฝ่าโควิด-ม็อบฉลุย!

1972

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เปิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเสี่ยงโควิด-19 ระบาดรอบใหม่และการชุมนุมกลุ่มการเมืองและนักเรียนนักศึกษา ชูมาตรการเร่งด่วน 3 ด้าน “เน้นแก้หนี้-มีเงินใช้-มีงานทำ” พร้อมเสริมจุดแข็งประเทศไทย แบงก์ชาติและสถาบันการเงินเป็นแม่งานหนุนช่วยส่วนระยะยาวปรับแผนFDI ชูอีอีซี เพราะไทยยังเป็นดาวเด่นในสายตาผู้ประกอบการระดับโลก โดยรวมแล้วมาตรการเร่งด่วนเหมาะสมจำเป็น แต่ระยะกลาง-ยาว ยังไม่เห็นรูปธรรมเสริมความแกร่งของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์ใหม่ และยังหวังเม็ดเงินต่างชาติเป็นหลัก โลกเปลี่ยนไปแล้ว หลังโควิดเราจะเปลี่ยนตัวเองด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร? หวังว่าทีมเศรษฐกิจจะให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ลมปาก จะรอฟัง!!

มาตรการเร่งด่วนครอบคลุมถึงประชาชนรายย่อย

1.สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง-คิกอ็อฟงานจ้อบเอ็กซโป

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง นายสุพัฒนพงษ์ ได้เคยเปิดเผยถึงมาตรการการจ้างงานระยะสั้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า 1 ล้านคนใน 2 ส่วนหลักๆ คือ บัณฑิตจบใหม่ 400,000 คน และคนที่ตกงานอยู่อีก 400,000 คน โดยจะมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา มีมาตรการจูงใจเอกชนให้มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบ Co-payment เช่น ถ้าไปทำงานในบริษัทเอกชนรัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกินจำนวนเท่าไหร่ แต่จะไม่ใช้วิธีหักลดหย่อนภาษีเหมือนที่เคยทำมา เพราะเห็นผลช้า 

“คนตกงานจำนวนหนึ่งจะมีมาตรการภายใต้เงินงบประมาณปี 2564 และมาตรการภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท หลักล้านตำแหน่งรวบรวมกันได้อยู่แล้ว แรงงานที่จะว่าจ้างในระยะสั้น ช่วง 12 เดือนหลังจากนี้ จัดหาให้ได้ แต่ต้องมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการด้วย”

26-28 กันยายน 2563 จะมีการจัดงาน Job EXpo Thailand 2020 ที่ไบเทค บางนา และมีการลงทะเบียนสมัครงานงานผ่าน www.ไทยมีงานทำ.com

2.สร้างรายได้-มีเงินใช้จ่ายให้เศรษฐกิจหมุนเวียน

-มาตรการ “คนละครึ่ง” รายละ 3,000 บาท เป้าหมาย 10 ล้านคน คนไทยอายุตัังแต่ 18 ปีขึ้นไปสมัครได้แต่ต้องไม่ได้รับเงินสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านแอฟ “เป๋าตัง” วิธีการใช้จ่ายผ่านแอพเป๋าตังวันละ 100 บาทรัฐบาลสมทบ ครึ่งหนึ่งคือ 50 บาททุกวันจนครบกำหนดเวลา เริ่มลงทะเบียน 16 ตุลาคม 2563

-ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านราย จะได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 500 บาทเพิ่มตามกรอบเวลาที่กำหนดคาดประมาณ 3 เดือนหรือเท่ากับกรอบเวลามาตรการคนละครึ่ง  รอประกาศเป็นทางการอีกครั้ง

มาตรการเร่งด่วนทั้งสองนี้เป็นการประคับประคองเศรษฐกิจระดับบุคคลไปเป็นซีรีส์ เพื่อทะยอยใช้วงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่เตรียมไว้ รองรับความไม่แน่นอนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น “ค่อยๆทำไป วัดผลไป แน่ใจเมื่อไหร่ค่อยใส่เกียร์ 5” รมว.สุพัฒนพงษ์กล่าว

3.แก้ปัญหาหนี้ด้วยการพักชำระหนี้-เติมสภาพคล่องให้เอกชนและประชาชน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นแม่งานหลัก ในการดูแลปัญหาหนี้สินของทุกระดับ ทั้งระดับเล็ก ระดับกลางและระดับรายย่อยบุคคล

-โครงการ DR BIZ เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ เตรียมการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เรื่องนี้รัฐบาลจะติดตามอย่างใกล้ชิดและจะสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จให้ได้

ปัจจุบันธปท.มีทุนใหญ่เกินเกณฑ์ มีถึง 19% ถือว่าแข็งแกร่ง สถาบันการเงินของไทย ธนาคารไทยพาณิชย์มีสภาพทุนสำรองที่เป็นบวก พร้อมสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือ เสริมสภาพคล่อง SMEs เช่นมาตรการซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาทที่ธปท.ดูแลก็น่าจะเพียงพอตามที่รองนายกฯแจง สำหรับภาคเอกชนที่ขอรัฐบาลพักชำระหนี้ 2 ปี รองนายกฯกล่าวว่า 1 ปีได้แน่นอนแต่ถ้า 2 ปีคงต้องพิจารณาเป็นกลุ่มไป ว่าใครได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ไม่เหวี่ยงแหเหมือนกันหมด

มาตรการระยะกลาง-ระยะยาว ปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งดูดนักลงทุนต่างชาติ

-การแก้เกณฑ์ LTV การซื้อ-เช่าอสังหาฯ ถือเป็นระยะกลางและระยะยาว พิจารณาควบคุ่ไปกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจและการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ  ซึ่งพบว่า กระแสการไม่รวมศูนย์การผลิตไว้ที่หนึ่งที่ใดประเทศเดียว ค่อนข้างได้รับความสนใจ ประเทศไทยเป็นเป้าหมายที่สนใจของกลุ่มผู้ประกอบการระดับโลก ขณะเดียวกันตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ไทยได้วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง ทางถนน ทางเรือ ทางอากาศ พร้อมระบบดิจิทัล การสื่อสาร 5G ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด จางคลาย

ฐานความคิดสุพัฒนพงษ์ฯ:ตัวช่วยหรือตัวจริงบิ๊กตู่ด้านเศรษฐกิจ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นตำแหน่งทางการของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ วันนี้บอกกับสื่ออย่างชัดเจนว่า “รัฐมนตรีคลัง” จะต้องมีเร็วๆนี้ สำหรับตนนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งอาวุโสให้เรียกเขาว่า “รัฐมนตรีคลังอาวุโส”

ในบริบททางการเมืองเศรษฐกิจ รัฐบาลที่มีทีมบริหารเศรษฐกิจที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ทางสังคม ความเป็นมืออาชีพ ประสบการณ์ความสำเร็จที่จับต้องได้ จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นแก่รัฐบาลค่อนข้างสูง ฉะนั้นยิ่งสภาวการณ์บ้านเมืองอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ทั้งการระบาดโควิด-19 ที่กำลังระบาดรอบใหม่ทั่วโลก รอบประเทศไทยและมีความเสี่ยง กับความระส่ำทางการเมืองที่เกิดจากกลุ่มการเมืองภายในประเทศและอำนาจแทรกแซงจากภายนอกประเทศ  ใครที่มากุมทิศทางเศรษฐกิจย่อมไม่ใช่ธรรมดา

ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือเป็นคนรับหน้าเฉพาะกิจ สำคัญที่ฝีมือแก้ปัญหาและการวางแผนที่ถูกต้องในอนาคต  ถามด้านแนวคิด ได้คะแนนบวกทั้งจากภาคเอกชน และสาธารณชนที่น้อมรับข้อเสนอ แต่ก็ไม่โอนอ่อนทุกเรื่อง ส่วนด้านนโยบายและแผนระยะกลางและระยะยาว ยังคงอยู่ในกรอบแนวคิดการยกระดับประเทศด้วย มาตรการการเงินการคลัง และการมุ่งไปสู่แนวทางพัฒนาที่รองรับอุตสาหกรรมข้ามชาติ  ความท้าทายที่สุดสำหรับประเทศไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ คือประเทศไทยจะพลิกผันการพัฒนาไปสู่การมองโลกในมุมใหม่ ที่คนไทยสามารถยืนได้เป็นหลักด้วยตัวของตัวเองได้ พึ่งตนเองได้ หรือเดินย่ำรอยเดิมที่ต้องพึ่งพาต่างชาติในทุกมิติ นโยบายและแผนปฏิบัติการทั้งหลายจะเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐบาล โดยทีมเศรษฐกิจมีความเชื่อมั่นและมุมมองต่อ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในมิติแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร? คนไทยฝากความหวังและยังรอคอยคำตอบ!