ซวยสองต่อ? “ปชป.” เสียรู้ตกเป็นเบี้ย ในแผนชั่ว “ก้าวไกล” ล้มสถาบัน เตรียมโดนสอบ ออกเสียงโหวตแก้รธน. ขัดคำชี้ขาดศาลฯ

7652

หลังจากที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งผลการลงมติวาระ 3 ของการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเสียงโหวตของสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งได้มีการขานชื่อสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 737 คน ซึ่งผลปรากฏว่า มี ส.ส.เห็นชอบ 206 ส.ว. 2 รวมเป็น 208 เสียง ไม่เห็นชอบ ส.ส. ไม่มี ส.ว. 4 คน รวม 4 เสียง

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดว่า การออกเสียงวาระ 3 ต้องได้เสียงเห็นชอบจากวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 250 เสียง แต่การออกเสียงดังกล่าวได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบ

แต่ก็มีจุดที่น่าสังเกตระหว่างการขานชื่อลงคะแนนเป็นรายบุคคล นอกจากส.ส.ภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ที่วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมหมดแล้ว ส.ว.หลายคน ก็ไม่ได้อยู่ร่วมโหวตในห้องประชุมด้วย หรือคนที่อยู่ในห้องประชุม จะใช้วิธีขานงดออกเสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ ส.ส.พลังประชารัฐ โดยมีเพียงแต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่เท่านั้น ที่ขานชื่อเห็นชอบกับการลงมติให้แก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็พบว่า มี ส.ส.ฟากฝ่ายค้าน หลายคนที่ถึงจะมาประชุมแต่ใช้วิธีเงียบ ไม่ยอมขานลงคะแนนอะไรเลย เพราะเกรงจะมีความผิด ถูกเอาผิดกรณีไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เทเสียงส่วนใหญ่ โหวตวาระ 3 นั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของพรรคในการลงมติวาระที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีข้อสรุปที่จะเสนอให้รัฐสภามีมติถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความกระจ่างอีกครั้งเพราะมีความเห็นหลายฝ่ายไม่ตรงกัน เพราะบางฝ่ายมองว่าไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าสามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งขอให้ศาลวินิจฉัยให้ประเด็นอื่น ๆ มีความกระจ่างด้วย อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าตอไปได้ โดยได้ให้ประธานคณะกรรมการประสานงานของพรรคไปหารือกับวิปรัฐบาลเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ทางออกนี้เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด

ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ เคลื่อนไหวชัดเจนว่าพรรคของตนเองนั้น ต่อต้านเผด็จการในวิธีทำงานของรัฐบาล แต่ก็เคยถูกส.ส.ฝั่งเพื่อไทยว่า เป็นพรรคที่ “ใจโลเล” เลือกอยู่ข้างคนชนะ และทิ้งอุดมการณ์พรรคได้เสมอ ขอแค่ได้เอาตัวรอด นอกจากนี้ยังออกตัวว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีจุดประสงค์หลักในการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง ส่วนการร่วมโหวตวาระ 3 ที่มีพรรคก้าวไกลแสดงจุดยืนอยากขัดคำวินิยฉัยของศาลฯอย่างชัดเจนนั้น มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมโหวตด้วยเป็นจำนวนมาก แม้จะรู้ว่าพรรคก้าวไกล ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำลายสถาบันฯ แต่นาทีนี้ประชาธิปัตย์ ก็ไม่สน เพราะตอนแรกก็คงมีหวังว่าเสียงโหวตจะมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบ ถือเป็นการโหวตเสียงที่อยู่ ๆ ถูกเหมารวมว่าเป็นแนวร่วมกับพรรคก้าวไกลไปแล้ว

ขณะที่ทางฝั่ง “พรรคก้าวไกล” ทั้งตัวนายพิธา นายปิยบุตร นายธนาธร ที่ออกมาพูดก่อนจะถึงวันโหวตวาระ 3 ว่า ต้องการคัดค้านลงประชามติ เนื่องจากมองว่า การลงประชามติ จะไม่ได้ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง แต่นั่นเป็นเพียงข้ออ้างของพรรคนี้ เนื่องจากจุดยืนคือ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลฯ ให้แก้เพียงรายมาตราเท่านั้น

รวมทั้งทางด้านนายปิยบุตร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุข้อความว่า “แก้รายมาตรา ขจัดอุปสรรคแก้รัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ – ยุบ ส.ว. – ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ – จัดประชามติยกเลิก รธน. 60 แล้วทำใหม่ทั้งฉบับ ” น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่กำลังทำกันอยู่ในสภาตอนนี้ คือกระบวนการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ โดยคนกลุ่มเดิมที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน หลายคนเคยอยู่ในกระบวนการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง

ในเชิงสถาบันการเมือง เรากำลังมีสององค์กรใหญ่ ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญ นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญและวุฒิสภา ที่พร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องที่ตัวเองเสียประโยชน์ และจะอนุญาตให้แก้ในเฉพาะเรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามทางด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยด้วยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” (รธน.2560 ม.211 วรรคท้าย) ทุกสมาชิกรัฐสภาที่โหวตให้ผ่านวาระ 3 ไปเมื่อคืน…”ต้องรับผิดชอบ” เพราะเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เดี๋ยวเจอกันที่ป.ป.ช.