จับโป๊ะ!! “อานนท์” โกหก ข้อความในจดหมาย บิดเบือนความจริง หลังถูกศาลไต่สวน?

2446

จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารโดยระบุว่า “ชี้แจง กรณีเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ได้มีการโพสต์ภาพข้อความที่เขียนด้วยลายมือระบุว่า เป็นการเขียน โดยนายอานนท์ อ้างว่า ในคืนวันที่ 15 มี.ค. 64 ได้มีการปฏิบัติงานที่ผิดปกติของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่พยายามแยกตนเองออกจากกลุ่มผู้ต้องขังคนอื่นในยามวิกาล จนเกรงว่าจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตนั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. ถึงเช้าวันที่ 16 มี.ค. 64 ภายหลังจากที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับย้ายตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์”, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำราษฎร และ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำกลุ่ม Wevo มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจร่างกาย ก่อนนำตัวมาคุมขังพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นอีก 9 ราย ในห้องควบคุมผู้ต้องขังภายในแดนแรกรับ เพื่อแยกกักโรคตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์

ล่าสุดวันนี้ (17 มี.ค.) ศาลได้นัดไต่สวนกรณีนายอานนท์ นำภา แกนนำราษฎร ที่เขียนจดหมายคำร้องเล่าเหตุการณ์เกรงจะได้รับอันตรายถูกทำร้ายในเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายอานนท์ จากเรือนจำมาศาล และศาลได้เรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาร่วมการไต่สวน

โดยทางด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นายอานนท์อยากได้รับมาตรการที่ปลอดภัย เพราะขณะนี้จำเลยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัวต้องอยู่ในเรือนจำ เกรงว่าจะได้รับอันตราย ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เกิดขึ้นที่ผู้ต้องขังตายในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดี กรณีที่นายอานนท์เขียนคำร้องอ้างถึงอันตรายยื่นต่อศาล เป็นการเขียนในฐานะเป็นจำเลยของศาล จึงขอให้ศาลช่วย โดยความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ถ้าทำไม่ถูกต้องตามระเบียบ ศาลก็จะมีคำสั่งประการใด ประการหนึ่งให้ดูแลจำเลยให้ดีขึ้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าเรือนจำทำถูกต้องแล้ว คำร้องของนายอานนท์ฟังไม่ขึ้นก็ตกไป

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการยื่นคำร้องของนายอานนท์ เป็นคนละเรื่องกับการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว เพราะกรณีนั้นศาลได้มีคำสั่งไปแล้วว่าไม่มีเหตุผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งจากเดิม เนื่องจากยังไม่ปรากฏหลักฐานใหม่ เพราะกรณีที่ถูกปองร้ายตามที่นายอานนท์เขียน ไม่ใช่เหตุที่ศาลสั่งไม่ให้ประกัน

นอกจากนี้นายกฤษฎางค์ ยังเปิดเผยเพิ่มเติม ถึงเหตุที่นายอานนท์รู้สึกไม่ปลอดภัยว่า มีคำเตือนมาก่อนแล้วว่ามีบุคคลหนึ่ง ซึ่งนายอานนท์เอ่ยเป็นชื่อเล่นในห้องพิจารณาว่า เขาจะส่งคนมาจัดการนายอานนท์และคนอื่น ๆ ที่เรือนจำ นายอานนท์ยังยกตัวอย่างผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนที่เสียชีวิต ขอให้ศาลได้โปรดคุ้มครองเพราะมีตัวอย่าง นอกจากนี้ ในวันที่ 22 มี.ค. นี้ ศาลจะไต่สวนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำราษฎร ในเรื่องนี้ด้วย เพราะอยู่ในบรรยากาศนั้น

เมื่อถามต่อว่า กรณีอย่างนี้เคยมีตัวอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ว่าจะคุ้มครองดูแลอย่างไร นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนนึกไม่ออก ท่านจะมีมาตรการดำเนินการหลังจากฟังแล้ว ไม่เคยมีตัวอย่าง ส่วนใหญ่มักจะตายก่อนที่ศาลจะทราบ

เมื่อถามถึงกรณีเรือนจำอ้างเป็นการตรวจไวรัสโควิด นายอานนท์เบิกความอย่างไร นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตอนเวลา 21.30 น. ไม่มีการพูดว่าจะตรวจโควิด แต่จะแยกไมค์กับไผ่ไปขังไว้ที่อื่น ตอนเวลา 23.30 น. เจ้าหน้าที่จึงบอกจะมาตรวจโควิด นายอานนท์บอกจริง ๆ ไม่เคยมีการตรวจโควิดเลย เพราะนายอานนท์เข้าออกศาลหลายครั้งเนื่องจากเป็นทนายและจำเลยในคดีอื่น จะถูกกักในแดนกักโรค ตรวจอุณหภูมิ กักตัวครบ 14 วัน ตรวจโควิดแล้วแยกไปแดนอื่น ไม่เคยมีการตรวจกลางคืน หลังเวลา 18.00 น. ความจริงต้องใส่กุญแจนอนแล้ว

แต่เมื่อดูตามจดหมายที่ “อานนท์” เขียน จะเห็นว่า บอกช่วงเวลาไว้ที่ 23.45 น. และการเบิกความในศาล ไม่ได้เล่าตามที่เขียนในจดหมาย ที่บอกว่าเจ้าหน้าที่เข้ามายามวิกาล ในเวลา 00.15น. และ 02.30 น.

เมื่อถามถึงว่า ต้องการจัดคนดูแลเป็นพิเศษเป็นคุกวีไอพีหรือไม่ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ไม่มี เราไม่เรียกร้อง ขอให้เป็นมาตรการปกติ อยู่สงบสุขเท่ากับคนอื่น อย่าหาคนมาทำร้าย เป็นหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ อยู่แล้ว มีหน้าที่คุ้มครองดูแล

เมื่อถามถึงการขอประกันตัวจำเลยทั้งหมดจะมีเงื่อนไขได้ประกันแล้วไม่ออกมาชุมนุมอีกได้หรือไม่ นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ศาลไม่มีเงื่อนไขนี้มา ขอให้มีเงื่อนไขออกมาก่อน ขณะนี้ติดเรื่องเดียวคือ กลัวกระทำซ้ำอีกกับที่ถูกกล่าวหา เช่น ชุมนุมอีก หรือถูกกล่าวหาว่าผิด ป.อาญา ม.112 ก็ไปปราศรัยอีก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วย คณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เปิดเผยว่า คืนวันที่ 15 มี.ค. ได้เข้ามาดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ราย แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 ราย และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 ราย คือ นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายปิยรัฐ จงเทพ, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวรวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ เพื่อเป็นการแยกกักกันโรคและสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19