ศาลรธน.วินิจฉัยมติศาลปกครองสั่งจ่าย ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ

2454

อีกหนึ่งประเด็นที่ถือว่าเป็นเรื่องร้อนในขณะนี้ เพราะเป็นความฉาวโฉ่ที่เกิดขึ้นจากพฤติการณ์นักการเมือง แล้วสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวงไม่แพ้ค่าโง่ทั้งหลาย ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ต้องมาตามแก้ปัญหา และสุดท้ายต้องยอมเป็นเบี้ยล่างให้กับกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเรียกร้องอะไรก็ต้องยอม โดยไม่สามารถไปเรียกร้องเงินจากใครมาชดใช้ความเสียหายได้อย่างครบถ้วน

โดยกรณีที่พูดถึงนี้ก็คือเหตุ “ค่าโง่โฮปเวลล์” หรือ โครงการระบบขนส่งยกระดับเป็น 4 ระบบใน 1 โครงการ ประกอบด้วย (1) ทางด่วนอยู่ชั้นบนสุด (2) รถไฟฟ้าอยู่ชั้นรองลงมา (3) รถไฟของรฟท.อยู่ชั้นเดียวกับรถไฟฟ้า และ (4) ถนนเลียบทางรถไฟหรือโลคอลโรด วิ่งอยู่บนพื้นดิน รวม 4 เส้นทาง 23.3 กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านั้นอนุญาโตตุลาการ คดีโฮปเวลล์ ได้มีข้อสรุปให้ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้าง แก่บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 180 วัน หรือ ยอดเงินเบ็ดเสร็จจนถึงวันนี้ กว่า  2.4 หมื่นล้านบาท (24,972 ล้านบาท)

ต่อมาถึงแม้จมีความพยายามยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง แต่ปรากฏว่ากระทรวงคมนาคม และะ รฟท.กลับต้องฝ่ายแพ้คดีทั้งหมด โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำ ที่ 107/2552, 2038/2551, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ 2 ผู้ร้อง กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน และมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ที่ยื่นขอให้รื้อคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ทั้งสองหน่วยงาน ต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่โฮปเวลล์ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด

ถึงกระนั้นทาง กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ก็ยังสิ้นสุดความพยายามที่จะต่อสู้เรื่องนี้ ผ่านการยื่นเรื่องผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและมีมติเห็นว่า เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ฯ ดังกล่าวไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44

อีกทั้งมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”

ดังนั้น จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 ทำให้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ60 ประกอบ มาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

จึงเป็นเหตุให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีเหตุผลฟ้องร้องผ่านศาลรัฐธรรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย.2545 ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่ และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว

และเมื่อศาลปกครองสูงสุด จัดส่งเอกสารรายงานการประชุมตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว  รวมทั้งระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวนแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นพ้องว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงให้ยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันนี้ (17 มี.ค.)

ล่าสุดวันนี้ (17 มี.ค. 2564) ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย. 2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนด ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่าแม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าวที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จะยื่นรื้อคดีใหม่ เพราะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโอปเวลล์ กว่า 2.4 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่าพบว่า บริษัท โฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

การพิจารณาลงมติของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ องค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีนี้มีทั้งสิ้น 7 คน เนื่องจากศาลได้อนุญาตให้นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดถอนตัวจากการพิจารณาตั้งแต่ต้นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองมาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1) และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมจึงเลือกนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 18 วรรคสี่

สำหรับคดีประวัติศาสตร์ ที่ไล่เรียงมาทั้งหมด ก็คือ ข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เป็นผู้นำเสนอแนวคิดแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม.รวม 3 โครงการ ก่อนเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2532

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2533 นายมนตรี ทำหนังสือกระทรวงคมนาคมที่ คค 0207/2406 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย รายงานถึงโครงการให้สัมปทานเอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม.

หนังสือดังกล่าว ระบุสาระสำคัญว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2532 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามโครงการให้สัมปทานเอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม. โดยให้ได้รับสัมปทานเดินรถระบบขนส่งมวลชนบนทางรถไฟยกระดับด้วย

กระทรวงคมนาคม มีคำสั่งที่ 283/2532 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2532 เพื่อกำหนดรูปแบบ และคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาลงทุน รวมทั้งดำเนินการออกประกาศเชิญชวน และพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้สนใจมาลงทุนด้วย โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

คณะกรรมการฯชุดนี้ ได้กำหนดรูปแบบและคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสม ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจมาลงทุนก่อสร้าง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2532 ผลของการประกาศเชิญชวน ปรากฎว่า มีเอกชนสนใจซื้อซองข้อเสนอ 4 ราย ได้แก่

1.บริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) 2.บริษัท International Contract and Consulting Services Co.,Ltd. 3.บริษัท Modular Construction & Supply Co.,Ltd. 4.บริษัท สยาม เอบีซี จำกัด

แต่เมื่อครบกำหนดยื่นเอกสารข้อเสนอในวันที่ 15 มกราคม 2533 ปรากฏว่า กลับเหลือผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) คณะกรรมการฯชุดนี้จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 2 คณะ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท ประกอบด้วย คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค และคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอทั่วไป

ก่อนมีการจัดให้ลงนามในสัญญารับผิดชอบโครงการ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยมี นายมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายไทย กับ นายกอร์ดอน หวู่ (Gordon Wu) ประธานบริหาร กลุ่มโฮปเวลล์โฮลดิ้ง นักธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้าง ชาวฮ่องกง ด้วยเป้าหมายทางธุรกิจ ว่า จะสามารถใช้ที่ดินของการรถไฟฯ กว่า 600 ไร่ ตลอดแนวเส้นทางมาพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้มูลค่ามหาศาล เพราะรู้ดีแต่แรกว่าแค่การจัดเก็บค่าทางด่วนและค่าโดยสารรถไฟอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน จึงต้องหารายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยจึงจะช่วยทำให้โครงการคุ้มทุนได้

แต่การดำเนินงานของโฮปเวลล์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาทางการเงิน กอปรกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในยุคนั้นถึงจุดถดถอย ผลงานในช่วง 6 ปี (ถึง ธ.ค. 2540) ของโฮปเวลล์ทำได้แค่ 13.8 % จากที่วางไว้ 89.9% แต่โฮปเวลล์อ้างว่าเป็นเพราะ รฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน

และด้วยสารพัดปัญหาความล่าช้าการดำเนินโครงการ ทำให้เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2540 ในยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทางกระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องต่อครม.เห็นควรบอกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากงานก่อสร้างมีความคืบหน้าน้อยมากต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดในแผนงาน แต่ขั้นตอนยกเลิกสัญญายังไม่มีผล ได้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเสียก่อน

จนมาถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารประเทศ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่าในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 มีมติบอกเลิกสัญญาบริษัทโฮปเวลล์ฯ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์ฯหยุดการก่อสร้าง และกระทรวงคมนาคม ได้ทำหนังสือถึงบริษัทโฮปเวลล์ฯ ลงวันที่ 27 ม.ค. 2541 แจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ และห้ามบริษัทโฮปเวลล์ฯ เข้าพื้นที่โครงการ

สุดท้ายจึงนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 58,979 ล้านบาท และมีการแก้ไขวงเงินและเจรจาหาข้อยุติแต่ไม่เป็นผล จนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่่ี่สาเสียหายระดับกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในที่สุด

ขณะเดียวกันกับเหตุกรณีดังกล่าว ที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ ได้มีการนำไปใช้เป็นข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม.บางส่วน แต่พาดพิงไปถึงนายสุเทพ นำผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และทำให้มีการฟ้องร้องต่อ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตาม ป.อาญา ม.326, 328 เนื่องจากมีการกล่าวหาว่า นายสุเทพมีส่วนทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย เพราะการตัดสินใจยกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์

ซึ่งนายสุเทพ ยืนยันว่า การตัดสินใจยกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ ได้กระทำโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลก่อนหน้าที่ตนเองจะไปดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คมนาคม เพราะบริษัทโฮปเวลล์ได้สัญญาสัมปทานไปแล้วไม่สามารถก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามสัญญาและบริษัทก็ขอแก้สัญญาหลายครั้ง ก่อนจะมีการตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม. แล้วมีมติให้กระทรวงคมนาคมยกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์   ซึ่งในคดีหมิ่นประมาทดังกล่าวง  ศาลอาญาได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.359/2564  พร้อมนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 31 พ.ค. 2564