ป้ายคนหายโผล่กทม. รับลูกจม.อานนท์ แฉบิดเบือนใช้ปลุกม็อบ หลังมวลชนถอย คนเอือมระอา

2416

จากประเด็นที่วานนี้ (16 มี.ค. 2564) บนเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” โพสต์ข้อความเผยแพร่จดหมายเขียนด้วยลายมือและลงชื่อผู้เขียนว่า “อานนท์ นำภา” เนื้อหาระบุ “ด่วนที่สุด ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 64 ข้อความเป็นคำร้องที่เขียนต่อศาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะรีบเขียนจึงลงวันที่ผิด”

เรื่องนี้เองกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนกระทั่งต่อมา โพสต์ดังกล่าวมีการแก้ไขข้อความว่า “ด่วนที่สุด” ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 64 (ข้อความเป็นคำร้องที่เขียนส่งต่อศาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อาจจะรีบเขียนจึงลงวันที่ผิด) ได้โปรดอย่าเถียงกันว่าเขียนในเรือนจำหรือไม่เนื่องจากวันนี้อานนท์มาศาลเพื่อสืบพยาน ไม่ได้เขียนในเรือนจำ

ทั้งนี้ ทางด้าน นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯได้รับตัว นายจตุภัทร์ และนายภาณุพงศ์ มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีช่วงกลางคืนตามขั้นตอนระเบียบของเรือนจำ จะต้องกักตัวในห้องกักโรคแดน 2 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นเวลา 14 วัน

ตามมาตรการจะต้องตรวจหาเชื้อและนำตัวไปกักโรคที่บริเวณชั้น 2 ของสถานพยาบาลเรือนจำในแดน 2 เช่นกัน ซึ่งต้องเดินออกจากห้องกักโรคขึ้นไปยังชั้น 2 ของสถานพยาบาล เป็นขั้นตอนปกติ แต่ทางเรือนจำพยายามที่จะแยกผู้ต้องขังกลุ่มนี้เพื่อตรวจคัดกรองตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ แต่มีการปฏิเสธไม่ยอมแยกไปห้องกักโรคเสี่ยงสูงบริเวณชั้น 2 สุดท้ายเรือนจำก็ยอมไม่ย้ายก็ไม่ย้าย เพราะไม่อยากให้กลายเป็นประเด็นปัญหา แต่เป็นห่วงเพื่อนที่อยู่ร่วมห้อง เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือลึกลับอะไรเจ้าหน้าที่ที่เห็นก็เป็นผู้คุมเรือนจำ

ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยออกหนังสือระบุว่า กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารโดยระบุว่า “ชี้แจง กรณีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีการโพสต์ภาพข้อความที่เขียนด้วยลายมือระบุว่า เป็นการเขียนโดยนายอานนท์ อ้างว่า ในคืนวันที่ 15 มี.ค. 64 ได้มีการปฏิบัติงานที่ผิดปกติของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่พยายามแยกตนเองออกจากกลุ่มผู้ต้องขังคนอื่นในยามวิกาล จนเกรงว่าจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตนั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค. ถึงเช้าวันที่ 16 มี.ค. 64 ภายหลังจากที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับย้ายตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์”, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำราษฎร และ นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำกลุ่ม Wevo มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจร่างกาย ก่อนนำตัวมาคุมขังพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นอีก 9 ราย ในห้องควบคุมผู้ต้องขังภายในแดนแรกรับ เพื่อแยกกักโรคตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์

ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วย คณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้ามาดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ราย แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 ราย และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 ราย คือ นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายปิยรัฐ จงเทพ, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวรวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ เพื่อเป็นการแยกกักกันโรคและสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนดังกล่าว คือ นายอานนท์ พร้อมพวก ได้ปฏิเสธการย้ายที่คุมขังออกจากห้องกักกันโรคเดิมไปยังสถานพยาบาลโดยอ้างถึงความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องแยกกลุ่มผู้ต้องขังอีกกลุ่มที่ให้ความยินยอมในการตรวจหาเชื้อจำนวน 9 รายไปคุมขังที่ห้องกักกันโรคห้องอื่นแทน

โดยการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และรับย้ายทุกรายออกจากผู้ต้องขังอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดตามกฎ ระเบียบ และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด ไม่สามารถกระทำการใดโดยพลการได้ อีกทั้งการทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว

ด้าน นายกฤษฎาง นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ออกมาระบุถึงกรณีนี้ด้วยว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ทนายอานนท์ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในยามวิกาลและสวมชุดสีน้ำเงินเข้ม ไม่ติดป้ายชื่อ โดยจดหมายฉบับดังกล่าว ทนายอานนท์ได้เขียนที่ศาลอาญา เมื่อเช้านี้ ซึ่งมีการนัดสืบพยาน และในช่วงบ่ายตนจะไปพบนายอานนท์ แต่เบื้องต้นได้คุยกับทนายที่ไปศาลอาญายืนยันว่าเป็นจดหมายดังกล่าวเป็นจดหมายของนายอานนท์จริง

กระทั่งช่วงเย็นวันเดียวกัน ศาลอาญา ได้กำหนดวันนัดไต่สวนตามเอกสารหนังสือคำร้องดังกล่าวในวันพุธที่ 17 มี.ค. 2564 นี้ เวลา 09.00 น. พร้อมออกหมายเรียก นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาร่วมในนัดพิจารณาดังกล่าว และให้เบิกตัว นายอานนท์ นำภา จำเลยจากเรือนจำ มาศาลด้วย

ล่าสุด วันนี้ (17 มี.ค. 2564) มีรายงานอีกว่าเมื่อเวลาประมาณ 04.40 น. พบป้ายผุดขึ้นหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการนำป้ายไปติดตั้งตามสะพานลอยหน้ากรมทหารราบที่1 ซึ่งป้ายดังกล่าวมีข้อความระบุว่า “กี่ศพแล้วที่ต้องตายในคุก” รวมถึงมีป้ายหน้าศาลฎีกา ซึ่งมีข้อความระบุว่า “วันเฉลิม ชูชีพ สยาม สุรชัย กฤษณะ” และมีป้ายผุดขึ้นหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยข้อความระบุว่า “ศาลไทยไม่มีความยุติธรรม”

นอกจากนี้ยังมีการนัดรวมตัวหน้าศาลอาญา รัชดา วันนี้ (17 มี.ค. 2564) เวลา 09.00 โดย นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบร์ท ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการเขียนจดหมายดังกล่าวของนายอานนท์ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขขอประกันตัวหรือไม่ อีกทั้งยังใช้กรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการปลุกปั่น ยั่วยุให้ม็อบสามนิ้วใช้เคลื่อนไหวในขณะนี้ หลังจากที่ผ่านมามวลชนคนเข้าร่วมชุมนุมลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก มีแค่หลักร้อยเท่านั้น จึงใช้โอกาสนี้หรือไม่??