จากที่วานนี้ (15 มี.ค. 2564) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางมาบริเวณถนนพระราม 5 ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอย
พร้อมขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ชุมนุมตอนหนึ่งว่า คนกะเหรี่ยงบางกลอยเขาอยู่ในพื้นที่มานานก่อนที่จะมีกฎหมาย ก่อนที่จะมีอุทยานเสียอีก นั่นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เห็นคุณค่าของประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน และกฎหมายมีความล้าหลัง
เขาบอกว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ป่าใดที่มีชุมชนก็จะเป็นป่าที่ยั่งยืน ป่าใดที่ไม่มีชุมชนก็มักจะเป็นป่าที่ไม่ยั่งยืน หลายคนถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม จนต้องมาชุมนุมกันอยู่ในที่นี้ ซึ่งเป็นการประท้วงของคนที่มาด้วยความเดือดร้อน รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม
“ผมไปม็อบมาหลายม็อบ ไม่มีการประท้วงที่ไหนมีความสุข คนที่มามีเรื่องเดือดร้อน เพราะเขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ข้อเรียกร้องไม่ได้ยาก และวันนี้จำเป็นต้องพูดอีกครั้งให้ประชาชนได้เข้าใจ เขาไม่รับ MOU เพราะบันทึกความเข้าใจไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย อยากให้เรื่องราวของเขาถูกรับรองอยู่ในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระมาศึกษาข้อพิพาท ดังนั้น ระหว่างแสวงหาความจริงและข้อยุติ หยุดคุกคามดำเนินคดีพวกเขาทุกกรณี ถ้าไม่เดือดร้อน อับจนหนทางจริง ๆ ไม่มีใครมาขอความช่วยเหลือที่ทำเนียบรัฐบาล” นายธนาธร กล่าว
ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้ยาก ที่เขาบอกว่าการไม่รับบันทึกความเข้าใจ เพราะบันทึกความเข้าใจไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ต้องการให้เกิดความหนักแน่นจากผู้มีอำนาจ ไม่ใช่มีเพียงแค่ลมปาก คิดจะฉีกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เขาต้องการให้มีการรับรองโดยมติคณะรัฐมนตรี และต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อผิดพลาด ต้องการให้หยุดดำเนินคดีกับทุกคนในทุกคดี และหยุดคุกคามในทุกกรณี
ตนมาให้กำลังใจชาวบางกลอย แต่ยังมีกรณีแบบเดียวกันเกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้นประชาชนจะไม่ยอมแพ้ ขอขอบคุณแทนทุกคนที่ยืนหยัดต่อสู้ เพราะเขาคือคนเท่ากัน มีจิตวิญญาณ มีเลือดเนื้อ มีลูกหลานที่ถูกอุ้มหาย เขารักชีวิต มีสิทธิและเสรีภาพเหมือนกับเรา การต่อสู้ครั้งนี้ไม่เพียงแค่อนาคตของบางกลอย แต่เป็นอนาคตของคนที่ถูกกดขี่ทุกคน
ทั้งนี้ นายธนาธรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยว่า ส่วนตัวมีความกังวล หากการแก้รัฐธรรมฉบับ 2560 ไม่ผ่าน จะมีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อที่จะหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างไร ถ้าเกิดกระบวนการแก้ไขถูกปัดตกไป อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกเดือดดาล เพราะการแก้ไขอย่างสันติในสภายังเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้มองว่าถ้าจะมีประชามติ ต้องแสดงให้เห็นถึงประชาชนว่าต้องการแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าไปถึงตรงนั้นอยากเชิญชวนให้ประชาชนออกมาแสดงพลัง ว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นนี้เองย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงวันที่ 14 ธ.ค. 2562 กลุ่มพรรคการเมืองร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 7 พรรค ร่วมจัดเวทีเสวนา เรื่อง พรรคการเมืองร่วมใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดย นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(ในขณะนั้น) กล่าวว่า ขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ร่วมแสดงจุดยืนทางการเมืองและสร้างความสมานฉันท์ที่ทำให้พวกเราเดินหน้าต่อไป และขอบคุณแรงสนับสนุนจากประชาชนทุกคน ดังนั้นเพื่อตอบแทนประชาชนตนสัญญาว่าพรรคจะไม่ทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนมองว่าคือการต่อสู้กับระบอบที่สืบทอดการรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2549 และปี 2557 ที่ฉุดความเจริญของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง รวมถึงความระแวงในกลุ่มประชาชนเพื่อใช้เป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร เช่น ปลุกระดม ไล่คนชังชาติ คือ ความพยายามแช่แข็งประเทศไทย
“เราแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหยุดความขัดแย้ง เรื่องอำนาจ ผ่านการจัดสรรอำนาจใหม่ ทั้งฝ่ายองค์กร ตุลาการ ฝ่ายบริหาร องค์กรในสังคม เอ็นจีโอ เพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ แต่เมื่อปล่อยให้พวกเขาจัดสรรอำนาจ พบเป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ตัวเอง การมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายของสังคมยอมรับร่วมกันไม่ว่าพรรคไหน หรือเป็นกลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มไหน ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามกติกา ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ คือ ทางรอดเดียวของประเทศไทย ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมมองว่ามี 2 ทางคือ แก้ด้วยเลือด หรือ แก้ด้วยการยินยอมพร้อมใจจากทุกฝ่าย หากฝ่ายผู้มีอำนาจไม่พร้อมเปิดพื้นที่ หรือผ่อนปรนให้คนเห็นต่าง ดังนั้นคงไม่มีทางเลือกใดให้เหลืออยู่ เพราะเขาเป็นฝ่ายผลักให้เราเลือกทางเลือก” นายธนาธร กล่าว