Truthforyou

ชำแหละนักการเมือง แก้รธน. ไม่พอใจที่เสียผลประโยชน์ เทียบชัด “ชวน-ไตรรงค์” ผู้อาวุโส ปชป.วันนี้ใครคือคนที่สังคมควรยกย่อง!?!

ไตรรงค์ ชำแหละนักการเมือง แก้รธน.เพราะไม่พอใจที่พวกตนเสียผลประโยชน์ เทียบชัด “ชวน-ไตรรงค์” ผู้อาวุโส ปชป.วันนี้ใครคือคนที่สังคมควรยกย่อง!?!

จากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง

ต่อมานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุรัฐสภาจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน ว่า เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยมาให้เพียง 4-5 บรรทัด ซึ่งขณะนี้ความเห็นก็ยังไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่นัก ยังคงตีความกันอยู่ ดังนั้น จึงต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน เมื่อถามว่าจะสามารถโหวตแก้รัฐธรรมนูญในวาระสามต่อได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนได้สั่งบรรจุระเบียบวาระก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา

เมื่อถามย้ำว่าการโหวตรัฐธรรมนูญวาระสอง ที่ผ่านไปแล้วนั้น เป็นโมฆะหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่เป็น เพราะวาระสองผ่านไปโดยเรียบร้อย ระเบียบวาระไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม วาระสองที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนวาระสามที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าโหวตผ่านวาระสองแล้วให้ทิ้งเวลา 15 วัน แล้วจึงโหวตวาระสาม ซึ่งขณะนี้วาระสองได้พ้น 15 วันไปแล้ว และยังยืนยันว่าการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม จึงยังเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อไป

ล่าสุดทางด้าน นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า

#หลักการVSหลักกู
1) สหรัฐอเมริกา : กาลครั้งหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1918 สภาสูงหรือ Supreme Court ของสหรัฐฯ ได้มีคำพิพากษาว่าร่างกฎหมายเกี่ยวกับ(การใช้แรงงานเด็ก) ที่รัฐสภาผ่านวาระ 3 ไปแล้วนั้น ไม่สามารถใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญ (INCONSTITUTIONALITY) ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็น “โมฆะ” โดยปริยาย (Supreme Court ของสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญด้วย) ประชาชนมากกว่า 3 ใน 4 ของมลรัฐที่มีอยู่ต่างออกมาปกป้องคำพิพากษาของศาลสูงดังกล่าวนั้น แม้หลักการอันนี้จะไม่ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แต่ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลสูงดังกล่าวไว้ในปี ค.ศ.1803 ซึ่งสหรัฐฯ ได้ยึดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน คำพิพากษาดังกล่าวมีความดังต่อไปนี้
“วัตถุประสงค์ของการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อจะจำกัดอำนาจของสภานิติบัญญัติและฝ่ายอื่นๆ ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญจะมีประโยชน์อะไรที่จะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ารัฐสภายังสามารถออกกฎหมายที่เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่เป็นอำนาจของตนที่ถูกจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาแต่เป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของศาลฯ ที่จะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกับการออกกฎหมายโดยรัฐสภา เพราะหน้าที่ของศาลก็คือต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดให้ได้ จึงต้องใช้อำนาจศาลในการพิพากษาว่า กฎหมายใดที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”
2) อังกฤษ : ศาสตราจารย์โรนัลด์ ดอร์กิน (DROF. RONALD DWORKIN) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้พูดไว้ในปี ค.ศ. 1990 เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “แม้ระบอบประชาธิปไตยมิได้เรียกร้อง (insist) ให้ศาลสูง (Supreme Court) (ซึ่งในอังกฤษได้ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญเหมือนในสหรัฐ) เป็นผู้ตัดสินคนสุดท้ายก็จริง แต่ก็มิได้ห้ามมิให้ศาลฯ ต้องปฏิบัติเช่นนั้น” (Democracy does not insist on judges having the last word, but it does not insist that they must not have it.)
3) เยอรมัน : ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิหน้าที่แก่ประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยรัฐธรรมนูญของพวกเขาได้บัญญัติให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยไม่ต้องฟ้องผ่านอัยการของรัฐ ถ้าประชาชนพบว่า รัฐบาล หน่วยงานของรัฐหรือรัฐสภา ได้ใช้อำนาจที่เป็นการขัดหลักการของรัฐธรรมนูญ (Unconstitutionality) ซึ่งได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 20 และมาตรา 93 โดยเฉพาะในมาตรา 93 นั้น ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีดังกล่าว (ที่ประชาชนฟ้อง) เพราะเป็นหน้าที่ของศาลฯ ที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ”
4) หลักสากล : หลักนี้มีว่า “อรรถคดีทั้งปวงในแผ่นดินที่ได้มีการพิจารณาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง (due process) เมื่อคดีถึงศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูง (Supreme court) และศาลปกครองสูงสุด เมื่อมีคำตัดสินสุดท้ายในเรื่องนั้นๆออกมา ทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตาม จึงไม่เคยมีประเทศใดที่รัฐสภาจะออกกฎหมายเพื่อล้างคำพิพากษาของศาลสูงสุดเหล่านั้นเลย หลักนี้เป็นหลักสากลที่ทุกประเทศยึดถือปฏิบัติ ในทางวิชาการเรียกหลักนี้ว่า “หลักคำตัดสินสุดท้ายต้องเป็นของศาล” (Court’s final decision is the last word.)
หมายเหตุ : มีแต่ในประเทศไทยนี้แหละที่ครั้งหนึ่งเคยมีทั้ง ส.ส. และรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดหนึ่งออกมานั่งแถลงข่าวว่า พวกตนไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ น่าอายจริงๆ วะ!
5) ที่ต้องมีหลักอย่างนี้ก็เพราะเป็นหลักการรัฐธรรมนูญที่เกิดจากปรัชญาของกลุ่มบูชารัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม (Liberal Constitution) ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่แยกอำนาจ 3 ฝ่ายออกจากกันให้เด็ดขาด เพราะถ้าอำนาจทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ประเทศจะประสบกับระบบทรราชที่กดขี่ (TYRANNY) เพราะผู้มีอำนาจบริหารจะออกกฎหมายที่กดขี่ประชาชนเมื่อใดก็ได้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีโอกาสรวมตัวกันสูง จึงต้องให้ศาลมีอิสระเต็มที่ในการควบคุมและคานอำนาจดังกล่าวเอาไว้
เพื่อเป็นการสนับสนุนหลักการดังกล่าว LORD ACTON แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจึงได้กล่าวประโยคที่ดังก้องโลกไว้ว่า
“Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “อำนาจมีแนวโน้มจะทำให้คนดีเป็นคนชั่ว อำนาจที่มากมายอย่างเด็ดขาด ก็จะยิ่งทำให้คนกลายเป็นคนชั่วอย่างเด็ดขาด (หรือชั่วอย่างสุดๆ) ไปเลย”
6) ฝรั่งเศส : ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้เขียนหลักการในข้อ 5) นี้ไว้ว่า “สังคมใดที่สิทธิของพลเมืองมิได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างชัดเจน และขาดซึ่งหลักประกันว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจแล้ว ถือว่า ประเทศนั้น สังคมนั้น เป็นสังคมที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ” (Any society in which the safeguarding of rights is not assured, and the separation of powers is not established, has no constitution.)
7) ก็เห็นนักการเมืองทั้งหัวหงอกหัวดำมักจะอ้างว่าตนต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยแบบสากลมากยิ่งขึ้น
แล้วที่ผมอธิบายมาตั้งแต่ข้อ 1) ถึงข้อ 6) ล้วนแล้วแต่เป็นหลักการรัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม ทั้งสิ้น จึงไม่ควรมีใครจะออกมาพูด กระแนะกระแหนศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ
เราควรจะใช้โอกาสนี้เพื่อทำประชามติ สอบถามประชาชนว่ายังยินดีที่จะให้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อยู่ต่อไปหรือไม่ นักการเมืองจำนวนหยิบมือเดียวที่พูดกระแนะกระแหนว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคิดเหมือนพวกท่าน
รัฐธรรมนูญของเยอรมันที่ใช้จนถึงปัจจุบัน เริ่มจากการควบคุมการยกร่างโดยฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะประกาศใช้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลฝรั่งเศส เสียก่อน แต่ก็ไม่เห็นคนเยอรมันจะกระแนะกระแหน ว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจของฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม
รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันก็ถูกควบคุมการยกร่างโดยจอมพลแมคอาร์เธอร์ ในนามของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่เห็นคนญี่ปุ่นจะกระแนะกระแหน ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของสหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทย นักการเมืองมักจะอ้างประชาชน ทั้งๆที่ลึกๆแล้วไม่พอใจที่พวกตนเสียผลประโยชน์ ทำประชามติถามประชาชนกันจริงๆ สักครั้ง สิครับ จะได้รู้จริงเสียทีว่าอะไรเป็นอะไร.
ผมขอเรียนว่าบทความที่ลงในเฟซบุ๊ก เป็น #ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรคปชปแต่อย่างใด
สำหรับนายไตรรงค์ เป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความโดดเด่นมาก เพราะเป็นผู้ที่อภิปรายเก่ง น่าติดตาม เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. หลายสมัย อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา
ซึ่งทั้งสองคน ถือว่าเป็น ผู้อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีบทบาทโดดเด่น หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้นายชวน จะเป็นผู้ที่อาวุโส และมีประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน แต่การให้ความเห็นยืนยันว่าต้องโหวตวาระ3แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็ดูเหมือนว่านายชวน ไม่ได้ตระหนักทั้งในฐานะประธานรัฐสภา และความเป็นนักการเมืองอาวุโสมากประสบการณ์ เพราะการดึงดันดังกล่าวย่อมเห็นปลายทางว่าจะก่อให้ความขัดแย้งได้ หรือนายชวนคิดเพียงความเป็นนักการเมืองอาชีพ หากเป็นเช่นนั้นทำไมนายไตรรงค์ ถึงไม่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน นั่นเพราะเห็นแก่ประเทศชาติมากกว่าความเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมือง สิ่งไหนที่รู้ว่าจะเป็นชนวนเหตุให้คนทะเลาะกันก็ย่อมเล็งเห็นผล ดับปัญหาก่อน นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสำหรับดร.ไตรรงค์
Exit mobile version