ระทึก!! ศาลอาญาทุจริตฯสั่งรฟม.แจง?!?แก้เกณฑ์ใหม่ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม กล้าเปิดประมูลต่อไม่รอศาลชี้ขาด ผู้บริหารส่อรับโทษ??

1462

เอาละซิ! กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในที่สุดเรื่องถึงศาลอาญาทุจริตฯแล้ว ต่อไปจะได้รู้ผลชัดเจนเสียว่า ที่รฟม.ทำมาทั้งหมด ทั้งแก้เกณฑ์ใหม่กระท้นหันทั้งๆที่ขายซองประมูลในเกณฑ์เก่าไปแล้ว มาแก้ใหม่หลังจากมีเอกชนบางรายยื่นเรื่องเสนอ มันทำให้เกิดความแคลงใจว่ามันถูกต้องชอบธรรมหรือไม่?  อย่าว่าแต่บริษัทเอกชนฯที่มาประมูลแข่งเลย ชาวบ้านก็สงสัยเหมือนกันว่า  ทำได้หรือจะไม่วุ่นวายกันใหญ่หรือ? แล้วก็วุ่นและล่าช้าจริงๆ ก็ไม่รู้ว่ารฟม.ไปโดนตัวอะไรมา จึงกล้า?

มาทบทวนเรียบเรียงเหตุการณ์กันก่อนว่า เกิดอะไรขึ้นกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่แสนจะอื้อฉาว ว่าคาวทุจริตรึเปล่า??

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ รฟม.ได้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.28 แสนล้านบาท

3 กรกฎาคม 2563 รฟม.ออกประกาศให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายนี้ สามารถซื้อเอกสารเพื่อร่วมประมูลตั้งแต่วันที่ 10-24 กรกฎาคม​ 2563 มีการขายซองประมูลและบริษัทเอกชนมาซื้อซองประมูล 10 ราย แต่สมัครยื่นประมูลแค่ 2 รายคือ กลุ่ม BTS และกลุ่ม BEM

17 กันยายน 2563 บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับไปใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขเอกสารประกวดราคา (TOR)​ เดิม ไม่ใช่หลักเกณฑ์ใหม่ที่มาแก้ไขหลังปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว

24 กันยายน 2563 บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ไปยื่นหนังสือต่อ องค์การต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงกรณีดังกล่าว

28 กันยายน 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปแจ้งความกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามพระราชบัญญัติ​ (พ.ร.บ.)​ ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (มาตรา 36) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 เปลี่ยนแปลง TOR

หลังพบข้อพิรุธ อาทิ การพิจารณาจะแยกซองเทคนิคหากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงินตามลำดับ แต่การประกวดครั้งนี้กลับนำซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือก และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงต้องขอให้ DSI ช่วยตรวจสอบ

14 ตุลาคม 2563 มีรายงานว่า ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง คกก.คัดเลือกตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (มาตรา 36) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และพวกรวม 2 คน โดยขอให้เพิกถอนมติ คกก.คัดเลือกฯ กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข TOR ที่ให้นำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอด้านราคา หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว

4 พฤศจิกายน​ 2563 สมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชน (ประเทศไทย) และเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ได้ไปร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบผู้ว่าการ รฟม. รวมถึง คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้เหตุผลในลักษณะ​เดียวกันกับ BTSC

26 มกราคม 2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เผยถึงความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – บางขุนนท์ และงานเดินรถทั้งเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ รฟม. ยังอยู่ระหว่างรอรับฟังคำตัดสินของศาลปกครอง หลังจากที่เอกชนไปใช้สิทธิยื่นร้องเรียนตามกระบวนการศาล และก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไต่สวนไปแล้ว และคาดว่าจะมีการพิจารณาตัดสินในเร็ววัน โดย รฟม.ได้เปิดรับซองข้อเสนอมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จึงถือว่าขั้นตอนมีความล่าช้าไปบ้าง แต่ทั้งนี้ ยังประเมินว่าหากศาลมีคำสั่งตัดสิน จะสามารถเร่งรัดขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอให้การดำเนินงานคงอยู่ตามแผน เริ่มเปิดให้บริการในปี 2567

เป็นคำสัมภาษณ์ล่าสุดของผู้ว่าการ รฟม. ก่อนคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ต่อมา รฟม.ประกาศล้มประมูล (5 กุมภาพันธ์ 2564)

ไฮไลท์มันอยู่ตรงนี้:

22 กุมภาพันธ์ 2564  BTSC ได้ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม. และผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังประกาศล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ หลังเอกชนยื่นซองประมูล โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้อง 15 มีนาคม 2564

ล่าสุดเมื่อวาน 15 มี.ค.2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดฟังคำสั่งคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยศาลฯ ให้ รฟม.ส่งข้อมูลเพิ่มเติม ภายในเวลา 30 วัน และนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ค. 2564 ซึ่งต้องรอฟังอีกครั้งว่าจะรับฟ้องหรือไม่

กรณีนี้ทางฝั่งบีทีเอสชี้แจง โดย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BTS) กล่าวว่า วันนี้ศาลยังไม่มีคำสั่งรับคำฟ้องหรือไม่ โดยมีการตรวจคำฟ้องของ BTSC ต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 รายว่าครอบคลุม ครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ โดยเบื้องต้นศาลระบุว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่จะพิพากษาได้

“บริษัทเป็นเอกชนจึงไม่มีเอกสาร เป็นเอกสารปรากฎในสื่อ โดยศาลจะขอเอกสารตัวจริงจาก รฟม. ในส่วนของบริษัทฯจะพิจารณาเพื่อนำเสนอความเห็นเพิ่มเติมในเวลา 30 วันเช่นกัน เราคาดหวังว่าเมื่อ รฟม.จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ในวันที่ 5 พ.ค.ศาลจะมีคำสั่งรับฟ้องและเริ่มการไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาคดีว่ามีมูลหรือไม่ต่อไป”พ.ต.อ.สุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ศาลฯ มองว่าเรื่องนี้เป็นคดีสำคัญ มีทุนทรัพย์มีมูลค่าสูง ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และเนื่องจากข้อมูลเอกสารอาจจะไม่เพียงพอครบถ้วน จึงสั่งให้ รฟม.จัดทำเอกสารส่งเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ได้แก่ 1.การดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งแรกที่มีการยกเลิก 2. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร 3. คำสั่งที่ยกเลิกประกาศเชิญชวน 4. รายงานการประชุมที่มีเปลี่ยนแปลง รวมถึงรายงานการประชุมที่เกี่ยวกับการยกเลิกต่างๆ และหนังสือยืนยันความเห็นคัดค้าน ของนางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ

ส่วนคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง รฟม.กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องการเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหาการฟัองร้องนั้น ขณะนี้ทีมกฎหมายของบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาในการยื่นอุทธรณ์ โดยจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

เรื่องนี้ ที่จะทำให้รฟม.อ้ำอึ้งน่าจะเป็น หนังสือยืนยันความเห็นคัดค้านของผํู้แทนสำนักงบประมาณว่า ทำไม่ได้เพราะเป็นโครงการใหญ่ ต้องผ่านครม.ก่อน แต่คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม.ไม่ฟัง เดินหน้าทำเพราะเหตุใดหนอ??

ต้องมาตามติดกันต่อไปว่า รฟม.จะชี้แจง 4 ข้อที่ศาลท่านย้ำมาให้แจกแจงเป็นเอกสารเพิ่มเติมให้ละเอียดว่าอย่างไรบ้าง?   วันมาพบศาล ก็ไม่มีผู้บริหารรฟม.มารับฟังแม้แต่คนเดียว ส่งตัวแทนและทนายมาอย่างเดียว ในขณะที่ผู้บริหาร BTSC มากันพร้อมหน้า วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จะเป็นวันพิพากษาว่า ข้อกล่าวหาที่ทางเอกชนชี้เรื่อง ความไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย และความไม่โปร่งใสในด้านจริยธรรม ศาลท่านจะชี้ขาดอย่างไร? ในระหว่างนี้ถ้ารฟม.ยังกล้าเปิดประมูลต่อด้วย หลักเกณฑ์ที่แก้ใหม่เจ้าปัญหา  เราคงได้เห็นกันว่า ระหว่างจรรยาบรร ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม และผลประโยชน์ใครจะเป็นผู้ชนะ?