Truthforyou

ย้อนพฤติกรรมหยาบ เพนกวินและพวก หมิ่น-ละเมิดอำนาจศาล โดนคดีกี่ครั้งยังไม่เข็ด!?

จากกรณีที่มีรายงานว่า ต่อมาเวลา 12.00 น. นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท แกนนำราษฎรนนทบุรี หนึ่งในจำเลย ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศการพิจารณาคดีว่า ภายในห้องพิจารณาคดี เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ขออนุญาตแถลงต่อศาลถึงความอึดอัดที่อยู่ในใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้พูดในที่เปิดเผย

จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัว จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น เพนกวินจึงประกาศความอึดอัดใจว่าเหตุใดศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสิน โดยเทียบเคียงกับคดี กปปส. ที่ตัดสินแล้วว่ามีความผิดแต่ได้ประกันตัว และไม่ต้องตัดผม

พร้อมประกาศขอประท้วงด้วยการอดข้าว ดื่มแต่น้ำ จนกว่าจะได้รับการประกันตัว และยืนยันว่าหากตนเอง เพนกวิน พริษฐ์ฯ ถูกกระทำการใดๆที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน อาทิ ถูกทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ขอให้ประชาชนภายนอกเรือนจำลุกขึ้นสู้ต่อรัฐเผด็จการ อีกทั้งมวลชนหนึ่งคนได้นำปัสสะวะขว้างหน้าบัลลังค์ศาล จากนั้น เจ้าหน้าที่ศาลได้นำตัวเพนกวิน ออกจากห้องพิจารณา ๗๐๑

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพนกวินมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันศาล โดยก่อนหน้านี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ได้ละเมิดอำนาจศาล จากกรณีการปราศรัยที่หน้าบันไดศาลฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายอานนท์ นำภา และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก รวมทั้งการไลฟ์สด ภาพเสียงการชุมนุมหน้าศาล เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 2 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาลอาญารัชดาฯ ได้นัดไต่สวนคดีดังกล่าว โดยนายอานนท์ ทนายของนายพริษฐ์ ได้แถลงว่า ผู้ถูกกล่าวหาอายุ 22 ปี เรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ยอมรับว่าได้พูดถ้อยคำดังกล่าว เป็นการพูดไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่ได้มีเจตนาที่จะรบกวนกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และไม่ได้หยุดทันทีที่เจ้าหน้าที่ห้าม แต่พอเวลาผ่านไป ถึงคิดขึ้นได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ยืนยันว่าจะไม่ทำอีก
ขณะที่ตัวแทนผู้อำนวยการศาลอาญาขึ้นแถลงว่า เมื่อได้รับการขอโทษและจะไม่กระทำอีกของผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ติดใจเอาความ

ศาลพิเคราะห์แล้ว การกล่าวของผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าเป็นการกล่าวจริง เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนกล่าวโดยสำคัญผิด เป็นอารมณ์ชั่ววูบ และเมื่อผู้ถูกกล่าวหากระทำไปก็ไม่ได้กระทำผิดซ้ำอีก และเพื่อเป็นการแก้ไขบรรเทาผลร้าย ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำคำแถลงขอโทษพร้อมที่จะเผยแพร่ข่าว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ เข้าใจและสำคัญผิดเกี่ยวกับการดำเนินคดีนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ เมื่อผู้กล่าวหาแถลงไม่ติดใจ ประกอบกับพิจารณาอายุ การศึกษา ที่ยังศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะดำเนินคดี
“แต่เพื่อธำรงไว้ถึงการพิจารณาคดีที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล จึงลงโทษว่ากล่าวตักเตือน ให้ผู้ต้องหาปฏิญาณตนว่าจะไม่กระทำอีก และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ”

นอกจากนี้ นายพริษฐ์ เคยมีพฤติกรรมเข้าข่ายการหมิ่นศาลอีกหลายครั้ง เช่น กรณีที่นายพริษฐ์ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงการตัดสินคดีบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ ด้วย โดยโยงไปถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
“ทุกคนรู้กันดีว่าประยุทธ์ จะอยู่หรือไป แท้จริงแล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในสุนัขทรงเลี้ยงที่มีประยุทธ์เป็นจ่าฝูง ทุกวันนี้ประยุทธ์อยู่ได้เพราะขายตัวเองให้เจ้าของมัน ฟังว่าตัวเองเอาทุกอย่างอยู่ เอาม็อบอยู่ เอาพวกตัวเองอยู่ แต่ดูทรงแล้วพวกตัวเองตอนนี้ก็กำลังร้าว เหลือแต่พวกเราว่าจะสู้หรือถอย
ดังนั้น ถ้าสุนัขทรงเลี้ยง เก้าตัวตัดสินให้ประยุทธ์ รอด นั่นแสดงว่าได้รับใบสั่งสูงสุดมา เราจึงจะต้องออกไปแสดงพลังให้เจ้าของหมาเห็นว่าเขาไว้ใจจ่าฝูงผิดตัว และถ้ายังจะอุ้มกันต่อไปอย่างนี้ ทั้งหมาทั้งเจ้าของหมาจะอยู่กันไม่ได้ตามกันไป
ส่วนถ้าเจ้าของหมาไหวตัวทันแล้วเปลี่ยนตัวจ่าฝูง เราจะฉลองชัยชนะ ก่อนจะสู้กันต่อในยกต่อไป สี่โมง ที่ห้าแยกลาดพร้าว พบกันครับ #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป” นายพริษฐ์ ระบุ

และกรณีที่. ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุก ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร เป็นเวลา 87 ปี จากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สืบเนื่องจากอัญชัญ ได้แชร์คลิปวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ใช้นามแฝง ‘บรรพต’ จำนวน 29 คลิป

นายพริษฐ์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า “นอกจากเรื่อง #วัคซีนพระราชทาน และการตบหน้าแล้ว มีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเศร้าในวันนี้ ป้าอัญชัญ อดีตข้าราชการระดับสูงถูกศาลตัดสินจำคุกในคดี 112 เป็นเวลา 87 ปี ลดโทษเหลือ 43.5 ปี นับเป็นโทษ 112 ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

ก่อนหน้านี้ลุงสิรภพ กวีประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 6 เดือน แต่โดนจำคุกมาแล้ว 4 ปี 11 เดือน เลยไม่ต้องติดต่อ เท่ากับว่าติดคุกฟรี 5 เดือน ในสภาวะที่สังคมกำลังเรียกร้องให้ยกเลิก 112 ศาลยังกลับเป็นมือเป็นไม้ให้กฎหมายเถื่อนทมิฬอย่างสม่ำเสมอ เท่ากับว่าศาลจะวางตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับคนในสังคมใช่หรือไม่ #ยกเลิกม112″

ทั้งนี้นอกจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนายพริษฐ์แล้ว หลายๆครั้งในการจัดการชุมนุมยังมีการจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายการหมิ่นศาลด้วยเช่นกัน เช่นกรณีการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมมีการจำลองศาลรัฐธรรมนูญ มีการเผาหุ่นผู้พิพากษา และ ผู้อำนวยการกลุ่มงานนิติการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับมอบหมายจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี กลุ่มราษฎร กรณีที่ได้มีการปราศรัยโจมตีการทำหน้าที่ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ได้วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ผิดในคดีพักบ้านหลวง

ซึ่งความผิดมาตรา 198 ประมวลกฎหมายอาญา ดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000-140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอยู่ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ…หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว … ”

โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 ได้ระบุฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลว่า
“ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
(1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
(2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
(3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
(5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277”

และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 กำหนดบทลงโทษไว้ว่า
“ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้
ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”

Exit mobile version