เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลได้จัดประชุม คนร.คือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจครั้งแรกของปีนี้ เกี่ยวกับนโยบายรัฐวิสาหกิจไทยซึ่งสำคัญมาก เพราะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนแผนงานของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ในการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ลุงตู่ใช้คำว่า รัฐวิสาหกิจเป็นทีมไทยแลนด์ ที่มีนายกฯเป็นกัปตันทีม และจะทำหน้าที่นำเรือประเทศไทยลำนี้ฟันฝ่าอุปสรรคผ่านน้ำเชี่ยวรอบด้านในห้วงเวลานี้ให้ได้ เรื่องสำคัญที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ซึ่งในรัฐบาลหลายชุดไม่ได้ความสำคัญมากนักคือ:
การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) เพื่อดูแลคนพิการไทยให้ครบด้าน ซึ่งหากดูข้อมูล จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแล้ว ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีคนพิการทั่วประเทศที่จดทะเบียนแล้ว 2,043,226 คน เป็นผู้ชาย 1,067,181 คน และผู้หญิง 976,045 คน การประกาศดูแลคนพิการของรัฐบาลช่วยเหลือทั้งคนพิการที่ยังสามารถทำงานได้ และกลุ่มเปราะบางซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้ หรือต้องการความช่วยเหลือ จากฐานข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ปัจจุบันมีจำนวน 45,336 คน
เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มี.ค.2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการว่า ในปี2564 กระทรวงแรงงานได้กำหนดแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ตั้งเป้าให้คนพิการจำนวน 4.4 หมื่นรายเข้าถึงการจ้างาน และในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ผลักดันนโยบายดังกล่าวควบคู่ไปกับการทำงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ที่แม้สำนักงานฯเพิ่งเริ่มจัดตั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่มีวิสาหกิจเพื่อสังคมมาจดทะเบียน 148 แห่ง ที่สำคัญมีองค์กร/สมาคมของคนพิการ มาจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการ 5 แห่ง ได้แก่
–บริษัทออทิสติกไทย ประกอบกิจการขายสินค้า ให้บริการ และส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น โดยนําผลกําไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในกิจการ หรือเพื่อใช้ประโยชน์ของสังคม
–บริษัทเด็กพิเศษ มีการจ้างงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนพนักงานประจํา มีการถือครองหุ้นโดยกลุ่มคนด้อยโอกาสและ/หรือคนพิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด
-และยังมีบริษัทที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ทีมีวัตถุประสงค์จ้างงานคนพิการ จํานวน 4 แห่ง
ทั้งนี้ เมื่อวิสาหกิจ นำกำไรที่ได้ไปทำประโยชน์เพื่อสังคม จะได้รับการยกเว้นเรื่องภาษีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด มากไปกว่านั้น ยังจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องการเข้าถึงเงินทุน การพัฒนาสินค้าและการจัดการ และการส่งเสริมการตลาด จากองค์กรพันธมิตรของ สวส. ที่ขณะนี้มี 17 แห่ง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ขับเคลื่อนการดำเนินการของวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้นายจุรินทร์ฯ ผลักดันการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ และเน้นย้ำในเรื่องการส่งเสริมให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสการจ้างงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้ใช้ศักยภาพตนเอง และมีรายได้อย่างยั่งยืน เพราะรัฐบาลนี้ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ให้ความสนใจการทำธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของประเทศ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจได้เข้ามามีส่วนในการรับใช้สังคมอย่างจริงจัง และองค์กรภาคประชาสังคมได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรูปแบบธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร นำไปสู่การจ้างงานผู้สมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อม
เรื่องนี้รัฐบาลเชิญชวนผู้สนใจเกี่ยวกับการจัดตั้งหรือการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักงาน สวส. www.osep.or.th หรือโทร 02-659-6473
ในด้าน “ภาพรวมของการดำเนินการด้านคนพิการของประเทศไทย” เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ ที่มีจุดมุ่งหมายให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตในสังคมชุมชนได้อย่างอิสระเท่าเทียมกัน ซึ่งกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำงานร่วมกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่าประเด็นเร่งด่วนที่กำหนดว่าจะต้องเร่งดำเนินการคือ
1) การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ 2) การส่งเสริมเข้าถึงสิทธิคนพิการ 3) การส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 4) การคุ้มครองสวัสดิภาพคนพิการ 5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย 6) การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านคนพิการ และ 7) ระบบการบริหารจัดการด้านคนพิการให้มีผลสัมฤทธิ์สูง”
มาดูท่านนายกฯ ประชุมบอร์ด คนร. ที่ผ่านมาเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน ซึ่งวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อคนพิการถือเป็นงานใหม่ที่รัฐบาลตั้งใจให้เกิดขึ้นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2564 มีพลเอกประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล
ท่านนายกฯได้มอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า ปี 64 นี้ คนร.มีทั้งงานที่ต้องทำต่อเนื่องจากปี 2563 งานที่จะต้องทำใหม่ งานที่ต้องแก้ไขและฟื้นฟูให้กับรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โดยต้องพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพทั้งในวันนี้และในอนาคต เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องจักรหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการ คนร. ทุกคนคือทีมประเทศไทย นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นหัวเรือ จะทำหน้าที่นำเรือฟันฝ่าอุปสรรคผ่านน้ำเชี่ยวในห้วงเวลานี้ให้ได้ และในวันนี้รัฐบาลเตรียมพร้อมเรื่องของรัฐวิสาหกิจ เร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาโดยเร็ว
และตั้งเป้าหมายผลักดันจีดีพีประเทศในปี 2564 นี้ไปที่ร้อยละ 4 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย จะมีการพิจารณาเรื่องการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะช่วยทำให้จีดีพีประเทศสูงขึ้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป็นแบบปกติใหม่ New Normal คำนึงถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น “BCG Model” “การพัฒนาอีอีซี” และ 5G เป็นต้น รัฐวิสาหกิจจะต้องทำงานร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย
นอกจากเรื่องใหม่ที่ท้าทายแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชนไทยแล้ว ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ท่านนายกฯจะจัดการกับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาคาราคาซังยืดเยื้อตกลงกันไม่ได้แบบไหน อย่างเช่น กรณีรฟม.กับบริษัทเอกชนมีปัญหาการประมูลรถไฟฟ้าสีต่างๆ ปัญหาการเวนคืนที่ดินที่มีปัญหากับประชาชนในพื้นที่ และอื่นๆอีกมากมาย จับตาดูกันว่าจะทำได้จริงตามที่ตั้งใจไหม?