ค่ายทหารเมียนม่าถูกตีแตกในคะฉิ่น?!? ขณะ ‘ยอดศึก’ นำ10 ชาติพันธุ์ประกาศตั้งสหภาพสหพันธรัฐ เข้าทางตะวันตก!!?

2663

ฝ่ายความมั่นคงไทยตื่นตัวเตรียมรับผู้ลี้ภัยแล้ว เนื่องจาก กองทัพเมียนมาบุกปะทะรัฐกะเหรี่ยง-ชานในวันเดียว ขณะม็อบพม่าชูป้ายร้องต่างชาติบุก ส่อการประท้วงภายในเมืองใหญ่จะยกระดับเข้มข้นขี้น และแนวรบชายแดนระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธ์ุ คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น แม้กองทัพจะเดินเกมส์รุก เข้าตีก่อนใน 2 รัฐทัังรัฐกะเหรี่ยงและรัฐชาน แต่กลับเสียท่าที่รัฐคะฉิ่น  สถานการณ์รบปะทะเช่นนี้ ทำให้พลเอก ยอดศึกผู้นำ 10 ชาติพันธ์ุตัดสินใจหลังประชุมร่วมติดตามสถานการณ์ ประกาศต่อต้านกองทัพและรัฐบาลเฉพาะกาลของเมียนมาและจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐอย่างเป็นทางการ นี่คือการประกาศสงครามอย่างชัดเจน นับจากนี้มีแต่สงครามนองเลือดเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างตั้งหลักเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผย ยากจะเจรจา เข้าทางแผนแบ่งแยกแล้วยึดครองของมหาอำนาจสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ที่สนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังม็อบพม่าในเมือง และแน่นอนคู่ขัดแย้งชาติพันธุ์ที่เคยเจรจากันได้  มาวันนี้ขยับปะทะ แนวโน้มบานปลายเกิดสงครามกลางเมือง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว

สำหรับประเทศไทย นอกจากเตรียมรับผู้อพยพลี้ภัย ยังต้องเตรียมรับมือกับการระบาดโควิด-19 จากกลุ่มผู้อพยพ และ การแฝงตัวของกองกำลังติดอาวุธที่หนีจากการปะทะมาหลบฟักตัวในไทยด้วย

 

วันที่ 12 มี.ค.2564 สำนักข่าวท่าขี้เหล็กนิวส์แชลแนล (Tachileik News Channel) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 11-12 มี.ค.2564 มีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนท์ ของคณะทำงานขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (PPST) ที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA-S EAO) โดย 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ประกาศต้านกองทัพเมียนมาอย่างเป็นทางการ หลังมีการปะทะรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งจัดเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 นับแต่เกิดการรัฐประหาร หลังประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 19-20 ก.พ.2564

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ในฐานะรักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) ได้แถลงผลการหารือว่า หลังรัฐประหาร มีการกดขี่ข่มเหงข้าราชการที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง มีการโจมตีผู้ชุมนุมอย่างโหดร้าย และจับกุมพลเรือนโดยคณะรัฐประหารเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง NCA อย่างร้ายแรง ทางการเมียนมาเพิกเฉยต่อ NCA และดำเนินการตามอำเภอใจ ไม่สนใจกระบวนการสร้างสันติภาพ ทำโดยพลการ ดังนั้น 10 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่เข้าร่วมข้อตกลงหยุด NCA จึงมีมติร่วมร่วมดังนี้คือ: 

1.ยุติการปกครองของเผด็จการ 2.กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จะทำงานร่วมกันกับทุกชาติพันธุ์ เพื่อสร้างสหภาพสหพันธรัฐ (Federal union)

สำหรับ 10 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่เห็นพ้องต้องกัน ประกอบด้วย 

1.แนวร่วมกลุ่มนักเรียนประชาธิปไตย (ABSDF)

2.พรรคปลดปล่อยรัฐยะไข่(ALP)

3.แนวร่วมชินแห่งชาติ (CNF)

3.กองทัพกะเหรี่ยงเพื่อประชาธิปไตย (DKBA)

4.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)

5.สภากะเหรี่ยงสันติภาพ) (KNU / KNLA PC)

6.องค์การปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (PNLO)

7.สภากอบกู้รัฐฉาน /กองทัพรัฐฉาน(RCSS / SSA)

8.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)

9.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

10.กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)

สำหรับ องค์กรการเมืองและกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่มนั้น ได้เข้าร่วมหยุดยิง กับรัฐบาลเต็งเส่ง 8 กลุ่ม และอีก 2 กลุ่ม ได้เข้าร่วมในสมัยรัฐบาลนางอองซาน ซูจี 

การประชุมครั้งนี้เป็นไปตามข่าวก่อนหน้า ซึ่งคนใกล้ชิดเจ้ายอดศึกเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Shan News ว่า PPST ต้องมาตกลงกันก่อนว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อ “คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า” (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw : CRPH) ที่สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รวมตัวกันเพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลและรัฐสภาพม่า ในการติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก แทนที่สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะทหาร

พล.อ.เจ้ายอดศึก ได้กล่าวเปิดประชุม โดยยืนยันว่า PPST ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับประชาชน สมาชิกทุกกลุ่มได้หยุดการเจรจากับตัวแทนกองทัพพม่าไปแล้ว และการประชุมกันครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยกันถึงปัญหาและอุปสรรคทางการเมืองที่กำลังเผชิญอยู่ โดยจะพยายามหาทางออก และวางแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต

ในวันที่ 11-12 มีการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธ์ ด้านหนึ่งกองทหารเมียนมาบุกรัฐกระเหรี่ยง และรัฐชาน ขณะที่รัฐคะฉิ่น กองกำลังติดอาวุธKIA บุกค่ายทหาร ถูกตีค่ายแตกกระเจิง

กองทัพคะฉิ่นบุกโจมตีค่ายทหารราบพม่าบริเวณรอยต่อกับภาคสะกายแต่เช้ามืด ของวันที่ 11 มี.ค.2564 ปะทะกันบยาว 2 ชั่วโมง ฝ่ายพม่าถอยกระเจิง ค่ายถูกเผา ยึดอาวุธ-กระสุนปืนได้ไปจำนวนมาก มีรายงานทหารพม่าเสียชีวิตกว่า 20 นาย 

ทหารกองพลที่ 9 กองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independent Army : KIA) ได้บุกเข้าโจมตีค่ายทหารพม่า หน่วยที่ 119 สังกัดกองพลทหารราบที่ 33 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านแซซิน ทางทิศตะวันตกของอำเภอผากั้น จังหวัดโมญิน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างรัฐคะฉิ่นกับภาคสะกาย

ชาวบ้านรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าว Kachin News Group ว่า ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นตั้งแต่ตอนตี 3 จากนั้นมีเสียงสู้รบต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง จนประมาณตี 5 เสียงปืนจึงสงบลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เดินไปดูยังค่ายแห่งนี้ตอนฟ้าสาง พบว่า ค่ายถูกเผาจนราบเรียบ พบรอยเลือด และไม่มีทหารพม่าเหลืออยู่แม้แต่คนเดียว

สถานการณ์เช่นนี้ เป็นที่แน่ชัดว่า กลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าร่วมถล่มกองทัพ และจับมือกับพรรคNLD ของอองซาน ซูจีแน่นอนแล้ว และกองทัพซึ่งชิงเปิดศึกในสมรภูมิกระเหรี่ยงและชาน ถือว่ากลุ่มชาติพันธ์ุได้ทำผิดกฎหมายเพราะเข้าร่วมเจรจากับ คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า CRPH ซึ่งทางการเมียนมาถือว่าเป็นกลุ่มจัดตั้งอย่างผิดกฎหมายด้วย

ที่สำคัญในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวหาอองซานซูจี รับสินบนเป็นเงินและทองคำมูลค่า 6 แสนดอลลาร์สหรัฐหรือ 18.3 ล้านบาท นับเป็นข้อหาที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ยิ่งตอกย้ำว่า การเจรจาระหว่างสองคู่ขัดแย้งคงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

เมื่อ 11 มี.ค.64 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างการแถลงของ พล.จ.ซอมินตุน โฆษกกองทัพเมียนมา ว่า อองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กระทำความผิดโดยรับเงินผิดกฎหมายมูลค่า 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18 ล้านบาท) และทุจริตด้วยการรับสินบนเป็นทองคำในห้วงที่บริหารประเทศ ด้านสถานการณ์ประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมา มีการจับกุมผู้ประท้วงประมาณ 2,000 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 รายแล้ว ส่งผลให้นาย Thomas Andrew ผู้ตรวจการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council : UNHRC) เสนอให้นานาชาติคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาและบริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise. เพื่อกดดันให้เมียนมายุติการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมาโดยเร็วที่สุด