ชำแหละก๊วนอาจารย์มธ.รวมหัวยื่นประกันรุ้ง-เพนกวิน-ไผ่ อีกอ้างสอบกลางภาค! หงายเงิบ มีบรรทัดฐานเรื่องอ้างการเรียนไว้แล้ว

5188

อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นัดรวมตัวยื่นประกัน รุ้ง-เพนกวิน-ไผ่ ต้องสอบกลางภาค จับตาศาลตั้งบรรทัดฐานเรื่องอ้างการเรียนไว้แล้ว มีคนเรียนจบปริญญาจากในคุก

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ นายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการที่สนับสนุนการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ม็อบราษฎร” โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ภายหลังศาลอุทธรณ์ ไม่ให้กันตัว นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม 4 แกนนำกลุ่มราษฎร

โดยระบุว่า “ล่าสุด เช้านี้ ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎรอีกครั้ง – คงดีถ้าพวกเขาได้รับอิสรภาพ และครอบครัวมีโอกาสพบหน้าพวกเขาอีกครั้ง เหมือนที่แกนนำกปปส.ได้รับสิทธิและโอกาสนั้นจากศาล #ประกันเท่าเทียม”

ต่อมา นายประจักษ์ ก็ยังได้เคลื่อนไหวอีกเกี่ยวกับกรณีแกนนำทั้ง 18 ด้วย ในการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง เมื่อเดือน ก.ย. 2563 โดยในวันที่ 8 มี.ค. 2564 นายประจักษ์ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่า “14.42 น. ศาลอาญา: ตอนนี้ทางคณาจารย์ยื่นประกันไปแล้ว รอฟังคำสั่งศาลว่าจะได้ประกันหรือไม่ อาจจะใช้เวลาสักพักครับ หวังว่าจะได้รับข่าวดี -(ขั้นตอนนี้คือประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทั้งหมดยังเป็นผู้บริสุทธิ์) #ม็อบ8มีนา #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งต่อมามีแกนนำ 3 คน ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่ จตุภัทร์ ปนัสยา และ ภาณุพงศ์ นั้น

ขณะที่เมื่อ 11 มี.ค. 2564 มีการเคลื่อนไหวเรื่องประเด็นการประกันตัวแกนนำ โดยทาง นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ศุกร์ 12 มี.ค. เวลา 9.00น. อาจารย์ที่สอนนักศึกษาที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ (รุ้ง – เพนกวิน – ไผ่) จะไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งขอประกันตัวอีกครั้ง (นอกจากยืนยันหลักการเรื่องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา) จะไปแสดงเหตุผลถึงความจำเป็นด้านการเรียน ที่ มธ.สัปดาห์นี้มีการสอบกลางภาค และการเรียนสมัยยุคนี้ นักศึกษาจะต้องค้นคว้าเขียนงาน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในเรือนจำ

อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (คณะที่รุ้งเรียน) จะไปกัน 4 ท่าน 4 วิชา ได้แก่ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี (คณบดีที่เทอมนี้สอนรุ้งพอดี), รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโน, รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ และ อาจารย์สิทธิโชค ชาวไร่เงิน ร่วมกับอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์ชญานิษย์ พูลธรัตน์ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ (ประกันเพนกวิน) และอาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ อ.ดร.พัทธีรา นาคอุไรรัตน์ และ อาจารย์อีกหนึ่งท่าน

นอกจากนี้ยังมี ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดี ฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กับ ผม และอาจารย์ ท่านอื่น ๆ ไปให้กำลังใจด้วย

ปล. การที่อาจารย์ไปประกันตัวนักศึกษาถือเป็นหน้าที่ครับ ให้เขาได้ออกจากเรือนจำ ส่วนผิดถูกก็รอศาลตัดสิน ระหว่างนี้ต้องถือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธ์ – ผมไม่คิดเยอะ

ล่าสุด จากประเด็นดังกล่าว นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า “ต้องให้โอกาสอีกกี่ครั้ง วันนี้​ อาจารย์มหาวิทยาลัยจะไปขอประกันแกนนำสามนิ้วที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ​ อ้างว่า​ คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ควรมีใครถูกจำขัง​ และเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้ออกมาสอบ

ต้องไม่ลืมนะ​ ศาลให้โอกาสกลุ่มนี้แล้ว​ แกนนำกลุ่มนี้เคยได้รับประกันตัวหลายครั้ง​ แต่ก็กลับออกมากระทำผิดซ้ำในความผิด​ ม.112 ไม่แน่ใจ​ว่า​ อาจาร์ห่วงอนาคตเด็กแต่อาจารย์ไม่ห่วงการทำลายล้างสถาบัน​ ซึ่งเป็นเสาหลักของความมั่นคงหรือ​ สถาบันเป็นผลประโยชน์สูงสุดแห่งชาติ​ Viral Interest ที่ไม่สามารถต่อรองได้นะ ถ้าได้รับการประกันตัวและออกมาเคลื่อนไหวในแนวทางเดิมอีก​ อาจารย์จะกล้ารับประกันอะไรกับสังคมบ้าง”

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า อาจารย์บางท่านที่กล่าวมาข้างต้นคือบุคคลที่เคยออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนม็อบตั้งแต่แรก โดยบางคนเป็น 1 ในอาจารย์ที่ ลงนามและแถลงการณ์สนับสนุนข้อเรียกร้องม็อบ “ธรรมศาสตร์” ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนกรณีที่เป็นประเด็นที่อาจารย์ยกมาอ้างว่า จะไปแสดงเหตุผลถึงความจำเป็นด้านการเรียน ที่ มธ.สัปดาห์นี้มีการสอบกลางภาค และการเรียนสมัยยุคนี้ นักศึกษาจะต้องค้นคว้าเขียนงาน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในเรือนจำ

เรื่องนี้เอง จึงได้หยิบยกข้อมูลบางช่วงบางตอนจากเว็บ (www.thaispygadget.com) มาอธิบายว่า ความจริงแล้วภายในเรือนจำเมื่อนักโทษถูกส่งตัวมาคุมขัง จะมีการทำประวัติ เพื่อให้ทราบความเป็นมาต่าง ๆ ของนักโทษแต่ละคน รวมทั้งการศึกษาที่นักโทษแต่ละคนได้รับมาก่อนติดคุก ผู้ไม่รู้หนังสือ หรือรู้แต่เพียงเล็กน้อย จะมีการสอนหนังสือให้ตั้งแต่ ก.ไก่ถึง ฮ.นกฮูก เรียกว่าเริ่มเรียนตั้งแต่อนุบาล จนกระทั่ง สามารถอ่านออกเขียนได้

ขณะที่ นักโทษบางคนสมัครใจที่จะเรียนต่อต้านสายอาชีพ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างเหล็ก ช่างตัดผม ฯลฯ ก็ สามารถที่จะขอเรียนในงานที่ตนสนใจได้ ซึ่งวิชาชีพที่เปิดสอนจะอยู่ในความควบคุม ดูแลของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเรียนจบแล้วจะมีใบประกาศรับรองการเรียนวิชาชีพนั้น ๆ มอบให้

ส่วนนักโทษบางคนที่จบชั้นมัธยมศึกษาแล้ว จะสมัครศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งทุกเรือนจำได้เปิดโอกาสให้ นักโทษศึกษาเล่าเรียนได้ บางคนที่จบปริญญาตรีมาจากข้างนอกคุกแล้ว ก็จะมาเลือกเรียนต่อในอีกสาขาภายในเรือนจำ ก็ทำได้เช่นกัน

สำหรับนักโทษที่เลือกเรียนระดับปริญญาตรีในคุก ทางเรือนจำจะเปิดโอกาสให้ได้ศึกษาเล่าเรียนหาความรู้กันอย่างเต็มที่ ให้โอกาสจัดกิจกรรมต่าง ๆ จัดมุม มสธ.ให้นักโทษที่เป็นนักศึกษาได้พบปะสัมมนากัน และบางเรือนจำได้เชิญอาจารย์เข้าไปสอนเสริมแก่นักศึกษาอีกด้วย