มั่นคงไทยตื่นตัวเตรียมรับผู้ลี้ภัย?!? กองทัพเมียนมาลุยรัฐกะเหรี่ยง-ชานในวันเดียว ขณะม็อบพม่าชูป้ายร้องต่างชาติบุก ส่อปราบเดือด?

2753

เฉยไม่ได้แล้วฝั่งไทย ฝ่ายความมั่นคงไทยตื่นตัวเตรียมพร้อมรองรับผู้ลี้ภัยจากเหตุรุนแรงในเมียนมาตามตะเข็บชายแดนแล้ว เนื่องจากล่าสุดความขัดแย้งทางการเมืองกับเรื่องชาติพันธุ์กำลังจะเป็นเรื่องเดียวกัน หลังกองทัพพม่าไม่พอใจที่สหภาพกะเหรี่ยงและสภากอบกู้รัฐชาน มีการติดต่อกับตัวแทนเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร เปิดสมรภูมิรบก่อน ปะทะกับ KNLA และ RCSS พร้อมกันในวันเดียว

ในด้านต่างประเทศ เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำอังกฤษ แถลงสื่อว่าพม่าแตกแยกหนัก ส่อเกิดสงครามกลางเมือง ขณะที่ม็อบต้านรัฐบาลชูป้ายเรียกร้องให้กองกำลังนานาชาติบุกเข้าปราบกองทัพเมียนมา โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อประชาชนและประเทศ

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2564 สำนักข่าวดิอิระวดี (Irrawaddy) รายงานอ้าง THAI PBS WORLD ว่า ทางการไทยเตรียมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่ติดกับเมียนมาโดยเมื่อวันจันทร์ที่  8 มี.ค.2564 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยป้องกันชายแดนในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมา 

ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดตาก ต้องเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับผู้อพยพหนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา คาดว่าจะมีจำนวนมาก เบื้องต้นมีการเตรียมพื้นที่ 4 อำเภอ 7 สถานที่เพื่อรองรับ ซึ่งเกือบทุกแห่งเคยรองรับผู้อพยพมาแล้ว โดยประกอบด้วย อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระและอำเภอแม่สอด 

เมืองพญาตองซู ฝั่งตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ยังคงมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีรายงานว่า ผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย มีการเตรียมพื้นที่และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการอพยพ หากสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่ภาวะวิกฤต เบื้องต้นได้จัดสถานที่ห่างจากแนวชายแดนจำนวน 4 แห่ง สามารถรองรับผู้อพยพ ได้กว่า 2,000 คน

ตัวเมืองท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันนี้ มีการนัดชุมนุมกันอีกครั้ง แต่ตำรวจและทหารเมียนมา ได้นำกำลังเข้าสลาย ก่อนจะเข้าประจำการณ์ตามจุดสำคัญในเมืองเพื่อกดดันไม่ให้กลุ่มประท้วงรวมตัวกัน

จะไม่ให้ขยับได้อย่างไร เพราะกองทัพพม่าเปิดสมรภูมิแล้ว 2 รัฐ รบกับ RCSS-KNLA พร้อมกันในวันเดียว

ตั้งแต่เช้าของวันที่ 9 มีนาคม ได้เกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างทหารพม่า กับทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ถึง 4 จุดด้วยกัน ในพื้นที่จังหวัดสะเทิม ตอนบนของรัฐมอญ และจังหวัดพะอัน ด้านตะวันตกของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของกองพลที่ 1 และ 7 ของ KNLA โดยการสู้รบดำเนินต่อเนื่องจนถึงช่วงบ่าย มีการยิงอาวุธหนักเข้าใส่กัน มีรายงานว่า ทหารพม่าจำนวนหนึ่งถูกจับเป็นเชลย และ KNLA สามารถยึดอาวุธของทหารพม่าได้เป็นจำนวนมาก

KNLA เป็นกองทัพของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จัดเป็นกองกำลังขนาดใหญ่มีทหารถึง 7 กองพล แบ่งพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมตั้งแต่รัฐกะเหรี่ยง ข้ามไปในบางส่วนของภาคพะโค และตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกของไทย ในรัฐมอญลงไปถึงภาคตะนาวศรี

KNU เป็น 1 ใน 10 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ก็ได้มีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหาร KNLA กองพลที่ 3 และ 5 เกิดขึ้นแล้ว ในพื้นที่อำเภอเจ้าก์จี จังหวัดตองอู ภาคพะโค มาจนถึงจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะกองทัพพม่ามีแผนจะสร้างถนนล้ำเข้ามาในเขตรับผิดชอบของ KNLA จึงได้เสริมกำลังทหารจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่จนเกิดการปะทะกัน

หลังรัฐประหาร สมรภูมิระหว่างทหารพม่ากับ KNLA ได้ขยายวงลงมาถึงจังหวัดพะอัน และข้ามไปจังหวัดสะเทิม ภาคเหนือของรัฐมอญ มีการมองว่า การสู้รบที่กระจายออกไปอีกหลายพื้นที่นั้นเนื่องจากกองทัพพม่าไม่พอใจ KNU ที่ได้มีการพูดคุยกับ ดร.ส่า ส่า ทูตพิเศษของคณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw : CRPH) ประจำสหประชาชาติ

CRPH ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ มีสมาชิก 380 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้ว และถูกรับรองโดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดก่อน เพื่อให้เป็นตัวแทนรัฐบาลและรัฐสภาพม่า ในการติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก แทนที่สภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) ที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร

กองทัพพม่าจัดให้ CRPH เป็นองค์กรผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ดังนั้นบุคคลหรือองค์กรใดที่ติดต่อหรือให้ความร่วมมือกับ CRPH จึงต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย

โดยตอนค่ำวันที่ 5 มีนาคม เฟซบุ๊กของ ดร.ส่าส่า ได้โพสต์ภาพการประชุมออนไลน์ระหว่างเขา กับปะโด ส่อ กวย ถู่ วิน รองประธาน KNU และปะโด ส่อ ทา โด มู ผู้ช่วยของรองประธาน KNU

นอกจากนี้ ในการออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารในหลายพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และภาคตะนาวศรี KNLA ได้ส่งทหารติดอาวุธจำนวนมากออกมาอารักขา ป้องกันไม่ให้ตำรวจหรือทหารพม่าใช้กำลังทำร้ายประชาชนที่กำลังประท้วงเหมือนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ยิ่งเป็นการสร้างความไม่พอใจแก่กองทัพพม่าเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากรัฐกะเหรี่ยงแล้ว ในวันเดียวกัน ทหารพม่าก็ยังได้เปิดหน้าศึกกับทหารของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) โดยเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 9 มีนาคม กำลังทหารพม่าจำนวนมากได้เข้าโจมตีทหารของ RCSS ที่อยู่ทางตอนเหนือของบ้านหัวตาด ตำบลหนองเอ๋ เมืองหนอง อำเภอเกซี จังหวัดดอยแหลม ชาวบ้านใกล้เคียงได้ยินเสียงปืนดังต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ค่อยสงบลง และยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตถูกเผยแพร่ออกมา

RCSS เป็นอีก 1 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลพม่า ไปตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง แต่หลังการรัฐประหาร RCSS ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพพม่าครั้งนี้ และออกแถลงการณ์คัดค้านมาทันทีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน ฐานที่มั่นของ RCSS หลายแห่งได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากทหารพม่า เริ่มจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ กองทัพพม่าได้ส่งทหารมากกว่า 400 นายเข้าโจมตีที่มั่นของ RCSS ในตำบลเมืองตุ๋ง อำเภอสีป้อ จังหวัดจ๊อกแม ภาคเหนือของรัฐชาน

ต่อมา ต้นเดือนมีนาคมมีการสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับ RCSS ในอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ รัฐชานใต้ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การสู้รบระหว่าง RCSS กับทหารพม่าที่อำเภอเกซี ในเย็นวันที่ 9 มีนาคม เกิดหลังจากที่ตัวแทน RCSS ซึ่งนำโดย พ.อ.จายเงิน เลขาธิการ 2 และทีมงาน ได้แก่ พ.ท.จายหาญ และจายแหลง เพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบออนไลน์กับตัวแทน CRPH เมื่อช่วงบ่าย

โดยพื้นที่ซึ่งมีการปะทะกันนั้น อยู่ใกล้กับบ้านไฮ ซึ่งเป็นฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) หรือกองกำลังรัฐชานเหนือ ที่อยู่ในอำเภอเกซีเช่นกัน และ SSPP กำลังมีความขัดแย้งกับ RCSS ถึงขั้นจับอาวุธเข้าสู้รบกันเองจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์

เจ้าหาญคำจ่าม โฆษก RCSS ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Shan News ว่า การที่ทหารพม่าเลือกเข้าโจมที่ RCSS ในอำเภอเกซี ก็เพื่อต้องการยั่วยุให้ RCSS เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นการโจมตีโดย SSPP ทำให้ทหารไทใหญ่ทั้ง 2 กองทัพต้องหันมาจับอาวุธสู้รบกันเองอีกครั้งหนึ่ง