ฺBTSงัดหลักฐานประมูลรถไฟฟ้าสีส้มไม่เป็นธรรม!?!ส่อพิรุธ รฟม.เร่งเปิดประมูลใช้เกณฑ์ใหม่ ขณะกระบวนการศาลยังไม่ยุติ จ่อฟ้องศาลสูงสุดเพิ่ม 3 คดี

1857

เรื่องรถไฟฟ้าสีส้มยังไม่จบ บีทีเอสแถลงข่าวโต้กลับ รฟม.  งัดหลักฐานการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม พบพิรุธตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ส่อไม่เป็นธรรม เพราะกระบวนการศาลปกครองยังไม่ยุติ เอกชนมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เตรียมเดินหน้าฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิ่มอีก 3 คดี ต้องติดตามกันอีกว่าเจ้าของโครงการอย่างรัฐบาลจะทำอย่างไร กับกรณีพิพาทที่ส่งผลกระทบกับหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ต่างชาติและคนไทยจับตามองอยู่

สำหรับโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตกระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตรจำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)  และส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)  ตามแผนการที่รฟม.แถลงต่อสาธารณชนคาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์ ในปี 2567 และรถไฟฟ้าสายสีสัมตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2569 

แต่ยังไม่ได้เริ่มเพราะ รฟม.แก้เกณฑ์ใหม่กระทันหันหลังจากขายซองประมูลและเอกชนซื้อซองประมูลไปแล้ว ซึ่งผิดจากระเบียบปฏิบัติที่เคยมีมา ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความแคลงใจทั้งต่อเอกชนที่ร่วมประมูล และสาธารณชนทั่วไป  ระหว่างที่มีการร้องเรียนไปที่ศาลปกครองกลาง ขั้นแรกศาลสั่งคุ้มครองให้ชะลอการใช้เกณฑ์ใหม่และชี้ว่า เป็นคำสั่งที่อาจผิดกฎหมาย รฟม.ยื่นศาลแย้ง ต่อมาประกาศล้มประมูลเฉย อึ้งกันไปทั้งบาง และเปิดประมูลใหม่รอบสอง โดยใช้เกณฑ์ที่ยังมีปัญหาพิพาท โดยยืนยันว่าเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่ดีแล้วชอบแล้ว ปัญหาใจกลางกรณีนี้คือ “เกณฑ์ใหม่ที่ว่าดีนี้มีความชอบธรรมที่จะใช้ได้หรือไม่?” ผิดกฎหมายหรือไม่? ก็ควรฟังศาลปกครองตัดสินให้สิ้นสุดก่อนใช่หรือไม่?

มาฟังฝั่ง BTS กันว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่?

วันที่ 10 มี.ค.2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ พ.ต.อ. สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) แถลงถึงความคืบหน้าการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า 

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศในเว็บไซต์ แจ้งยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 1.2 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และยังไม่มีคำตัดสินแต่อย่างใด

ทีมกฎหมายบริษัทกำลังเตรียมยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 กรณีประกาศยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และกรณีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน

-และบริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันในประเด็นที่ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีที่บริษัทฟ้องรฟม. และคณะกรรมการ มาตรา 36 เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากที่รฟม.ถอนอุทธรณ์

-นอกจากนี้ ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะพิจารณาว่ารับฟ้องคดีที่บริษัทยื่นฟ้อง ผู้ว่าการรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญา ฐานความผิดปฎิบัติหรือละเว้นปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ หากรับก็นัดไต่สวนต่อไป

ส่วนการที่ รฟม.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และจะเปิดขายซองประมูลในเดือนเม.ย.64 นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทขอรอดูรายละเอียดของเอกสารประมูล (TOR) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่

ทั้งนี้ บริษัทฯเห็นว่าโครงการ PPP:Public Private Partnership ไม่มีความจำเป็นใช้เกณฑ์เทคนิคกับราคา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ดุลยพินิจ และบริษัทนั้นๆ ก็ผ่านการประเมินด้านเทคนิคแล้วการใช้ราคาตัดสินชัดเจน และรัฐได้ประโยชน์สูงสุด แต่หากใช้เกณฑ์ เทคนิคและราคา อาจจะทำให้รัฐต้องจ่ายในราคาสูงขึ้น

โดยในไทยมีบริษัทรับเหมา ที่มีประสบการณ์อุโมงค์ใต้แม่น้ำอยู่ 2 รายคือ บมจ.ช.การข่าง (CK) และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ITD) ขณะที่บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ที่เป็นพันธมิตรของ BTS กลับไม่มีประสบการณ์ หากใช้ดุลยพินิจก็อาจจะเกิดความไม่เป็นธรรม

พร้อมระบุว่า การออกมาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่เกี่ยวข้องกับการได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า “BTSไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เราพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี แต่จนถึงขณะนี้เราพบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ BTS เกิดความเสียหาย ดังนั้นในวันนี้เราจึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมดสิ่งที่ดำเนินการมาและสิ่วที่ดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจใน สิ่งที่ถูกต้อง” 

ด้านพ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า BTS มีสิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองประเด็นที่รฟม.ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยไม่มีอำนาจรองรับ และชี้ให้เห็นว่า รฟม.ดำเนินการไม่ถูกต้องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอ จนกระทั่งยกเลิกการประมูล และเริ่มการประมูลรอบใหม่ เพราะตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ไม่มีอำนาจหรือข้อกฎหมายใดรองรับการดำเนินการดังกล่าว ยกเว้นไม่มีรายใดมายื่นประมูล หรือยื่นแล้วแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ถึงจะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประมูล ทั้งนี้ รฟม.เป็นเพียงหน่วยงานรัฐที่ดำเนินโครงการ เจ้าของโครงการจริงคือรัฐบาล (บริหารภายใต้คณะรัฐมนตรี)

คำสั่งยกเลิกการประมูล รฟม.ทำได้ยังไง ในเมื่อ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ไม่มีบอก ไม่ได้เขียนไว้ เพราะเจตนาไม่ให้กลับไปกลับมา เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ จะเกิดความเสียหาย เป็นกฎหมาย One Way อีกทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้ายังดันทุรังทำอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปีนี้ก็ไม่เสร็จสิ้นกระบวนการประมูล” ที่ปรึกษาประธานกรรมการ BTS ระบุ

นอกจากนี้ที่รฟม.อ้างว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ใช้ทั้งด้านเทคนิคกับด้านราคา (Price Performance) มาประเมินข้อเสนอเพราะเป็นแนวทางที่ดี แต่เหตุใดจึงไม่นำมาใช้ตั้งแต่แรก

“กฎหมายให้ทำแล้วทำไมไม่ทำ ใครสั่ง ใครได้ประโยชน์ เรื่องนี้ไม่มีการแบ่งเค้ก BTS เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราถูกจับตามองโดยนักลงทุนต่างชาติ 3 ปีที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลจาก DJSI BTS ยังอยู่ภายใต้สัมปทานรัฐ”

ฟังBTS ชี้แจงก็ชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ส่อจะผิดกฎหมาย แต่รฟม.มองว่าที่ทำนี้ถูกต้องตามกฎหมายทุกครั้งที่ชี้แจง ประหนึ่งว่าพูดกันแบบคนละเรื่องเดียวกัน มาฟังที่รฟม.ชี้แจงก่อนหน้า BTS แถลงข่าวกันว่ารฟม.คิดอย่างไรกันแน่?

เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2564 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่ารฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม 

กล่าวคือเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564  คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม.ยังคงยืนยันที่จะพิจารณาทั้งจากด้านเทคนิค 30% ควบคู่กับผลตอบแทนการลงทุนอีก 70% เนื่องจากสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการมีอาคารอนุรักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามเอกชนสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเสนอราคาอย่างเดียวหรือจะใช้สัดส่วนด้านเทคนิคและราคาเป็นเท่าไหร่

นายภคพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการล้มประมูลครั้งแรก เพื่อเร่งเปิดประมูลใหม่ในครั้งที่ 2โดยไม่รอคำตัดสินของศาลนั้นยอมรับว่าอาจจะทำให้โครงการล่าช้า กว่ากำหนด 1เดือน แต่หากรอผลการพิจารณาของศาล อาจจะทำให้เกิดความล่าช้า 1ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมากกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย  

รฟม.จะออกประกาศเชิญชวนภายในเดือน เม.ย.64 หลังจากนั้นจะขายเอกสาร RFP และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ในเดือน มิ.ย. และประเมินข้อเสนอ และประกาศผลได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค. ทั้งนี้แม้จะมีผู้ยื่นเสนอรายเดียวก็สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบผลการเจรจา

นายภคพงศ์กล่าวว่า “โดยการยกเลิกการประมูลและเปิดประมูลใหม่จะช่วยให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำได้เร็วกว่าการรอคำสั่งศาลที่คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ซึ่งตามขั้นตอนศาลแล้วจะต้องมีการอุทธรณ์ของคู่กรณี แต่การเปิดประมูลใหม่เบื้องต้นล่าช้ากว่ากำหนดราว 1 เดือนเท่านั้น   ศาลได้สั่งให้จำหน่ายคดีนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรอผลคำพิพากษา ถือว่า คำสั่งขอคุ้มครองฉุกเฉินให้ใช้เกณฑ์คัดเลือก ก่อน รฟม แก้ไข สิ้นผลบังคับใช้ไปด้วย ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว รฟม จึงสามารถเดินหน้าประมูลครั้งใหม่ต่อไปได้” 

รฟม.ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการดำเนินการโครงการภายในพ.ร.บ.ร่วมทุนภาครัฐและเอกชน มีมุมมองและการปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันกับเอกชนอย่าง BTS ต้องปฏิบัติตาม แต่การอธิบายต่างกันแบบนี้ จะหาข้อยุติได้อย่างไร แล้วเจ้าของโครงการคือรัฐบาลจะนิ่งเฉยปล่อยไปแบบนี้อีกนานแค่ไหน ในที่สุดก็ต้องกลับมาที่ท่านนายกรัฐมนตรีฯอยู่ดี ว่า ท่านจะตัดสินใจอย่างไร รู้ว่ายากแต่ต้องทำ ปล่อยทิ้งไว้จะบานปลายกระทบ โครงการระบบรางทั้งระบบ ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ!!