ส.อ.ท.ระดมเงินตั้งกองทุน “นวัตกรรมเพื่ออุตฯ”!?! ปีแรก 2,000 ลบ. ใครร่วมลดหย่อนภาษี 3 เท่า คาดช่วยSME 1,000 ราย

1402

ธุรกิจรายย่อย หรือเอสเอ็มอีมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ด้วยสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีทันสมัย ตลาดที่เปิดกว้าง ภาครัฐให้การสนับสนุนต่อเนื่อง แต่เมื่อเผชิญภาวะการระบาดหนักโควิด-19 ก็เซซังกันไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลผุดมาตรการหลายด้านประคับประคองไม่ให้ล้ม ทั้งด้านการเงินการคลัง ขณะที่ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. ได้ร่วมกับภาครัฐแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับเอสเอ็มอีเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน  สรุปผลคือการจัดตั้ง “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม”ในรูปมูลนิธิ โดยอว.เห็นชอบและพร้อมสมทบเงินกองทุน นับเป็นข่าวดี เพราะเป็นการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม

วันที่ 8 มี.ค.2564 นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทางส.อ.ท.ร่วมกับภาครัฐ ได้กำหนดจัดตั้ง “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม”ในรูปของมูลนิธิ ภายในปีแรก ใช้งบฯลงทุน 2,000 ล้านบาท โดยภาครัฐสมทบ 1,000 ล้านบาท และเอกชนสมทบ 1,000 ล้านบาท ในการนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เห็นชอบและพร้อมสมทบเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

ในระหว่างนี้กำลังหารือกับกรมสรรพากรเพื่อ ส่งเสริมภาคเอกชนที่เข้าร่วมสมทบเงินเข้ากองทุน สามารถนำเงินนี้ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า จากปัจจุบันลดหย่อนได้เพียง 2 เท่า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาสนับสนุน และจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น  การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การต่อยอดงานวิจัยต่างๆ เป็นต้น

ในด้านระยะเวลา:คาดว่ากองทุนจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ มั่นใจว่ากองทุนจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ภายใน 3 ปี

รูปแบบการดำเนินงาน: ส.อ.ท.จะจัดตั้งมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม โดยมีคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามาร่วมพิจารณาคัดเลือกเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ  โดยเอสเอ็มอีที่จะขอรับการสนับสนุน จะต้องเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีกระบวนการผลิตสินค้า เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย  มีผู้ถือหุ้นที่เป็นสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 15% ไม่เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นในโครงการเดียวกันในระหว่างการยื่นข้อเสนอโครงการนวัตกรรมจนถึง พิจารณาโครงการ เว้นแต่ทุนนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ซ้ำซ้อนกับค่าใช้จ่าย ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ทั้งนี้ทางส.อ.ท.คาดว่าในปีแรกด้วยกองทุน 2,000 ล้านบาทจะสามารถช่วยเอสเอ็มอีได้ 500-1,000 ราย และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 5 เท่า

ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่จะเข้าร่วมจะได้สิทธิประโยชน์คือ 1.ลดหย่อยภาษี 3 เท่า 2. ได้รับสิทธิ์พิจารณาให้ร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีที่ได้รับทุนก่อนบริษัทอื่น และ 3.สามารถกำหนดโจทย์ความต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้

สำหรับจุดเด่นของโครงการนี้ที่เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ นอกจากได้รับทุนได้แก่

  1. ได้รับสนับสนุนด้านการตลาด 2. สนับสนุนด้านวิชาการ 3.ได้กรรมสิทธิ์ในผลงาน หรือทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง