ความคืบหน้าในการดูแลภาคแรงงานที่น่าสนใจ จากเจ้ากระทรวงแรงงานล่าสุดได้แก่ การจัดตั้งกองทุนการพัฒนาแรงงานนอกระบบ และการจัดตั้งธนาคารแรงงาน โรงพยาบาลแรงงาน ที่มีการถกเถียงและพยายามผลักดันกันมานานแล้วส่อเค้าอาจสำเร็จได้ในยุคของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงานที่สื่อชอบเรียกกันว่า “จับกัง1” มุ่งมั่นลุยให้สำเร็จเพื่อเป็นผลงานประวัติศาสตร์ของกระทรวง
วันที่ 6 มี.ค. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น เจ้ากระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ…. เพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม ได้รับการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนการรวมกลุ่มในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน
เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนที่ รับงานไปทำที่บ้าน และเป็นการนำแรงงานนอกระบบ ที่มีอยู่ 20 ล้านคนเข้าระบบได้ เช่น มอเตอร์ไซต์รับจ้าง หาบเร่-แผงลอย หรือผู้ที่ไม่มีฐานข้อมูลในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมทั้งมาตรา 39 และ มาตรา 40
ทางกระทรวงได้จัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาชีวิตแรงงานนอกระบบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่าย เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และจัดให้มีการประกันภัย สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นๆ การดำเนินการบริหารกองทุนไม่กระทบกับ การดำเนินการของกองทุนประกันสังคม
(ที่มา : “การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2562” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
โดยเงินกองทุนจะมาจาก “เงินค่าสมาชิก”ของแรงงานนอกระบบ และกระทรวงการคลังจะสนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้แรงงานนอกระบบสามารถเข้ามาสมัครเข้ากองทุนจำนวน 100-200 บาทต่อปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์กฎหมาย ถือว่า เป็นการตั้งไข่ พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ เป็นกฎหมายเฉพาะที่ดูแลแรงงานนอกระบบอย่างครอบคลุม
สำหรับแรงงานนอกระบบคืออะไรและสำคัญอย่างไรจึงต้องดูแล เพราะมีการพูดถึง “แรงงานนอกระบบ” ว่าเป็นแรงงานเถื่อนบ้าง แรงงานผิดกฎหมายบ้าง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยข้อมูลจากรายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2562 ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ให้นิยามแรงงานนอกระบบไว้ว่าหมายถึง “ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ” ตรงข้ามกับแรงงานในระบบ เช่น ข้าราชการที่มีสวัสดิการข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทเอกชนที่มีประกันสังคม รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยมีคนทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ราว 37.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 20.3 ล้านคน
ในด้านเมกะโปรเจ็กต์ที่ รมว.แรงงานตั้งใจให้สำเร็จในสมัยนี้อย่างมากคือ ธนาคารแรงงาน และโรงพยาบาลเฉพาะทางแรงงาน เป็นสถาบันการเงินสำหรับแรงงานโดยเฉพาะ และเป็นโรงพยาบาลสำหรับแรงงานทุกกลุ่มอย่างแท้จริง มีรายละเอียดดังนี้
โรงพยาบาลเฉพาะทางของประกันสังคม จัดตั้งเพื่อบริการและดูแลผู้มีอาชีพทั้งในระบบและนอกระบบ แม้จะมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือประกันสังคมกว่า 200 แห่ง แต่บริหารไปคนละทิศละทาง จึงต้องการทำให้เป็นตัวอย่างโดยมี โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลตำรวจเป็นต้นแบบ
ด้านงบประมาณที่จะนำมาใช้ นำมาจากผลตอบแทนเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 3,000 ล้านบาทมาสร้าง และหาผู้บริหารมืออาชีพมาดำเนินการ
รมว.แรงงานกล่าวว่า “ต่อไปแรงงานต่างด้าว ไม่ต้องเสียค่าประกันจัดหางาน ไม่ต้องไปต่อคิว ยกเลิกให้หมด ให้ทำเหมือนทำพาสปอร์ต ไปที่ห้างสรรพสินค้า ถ่ายรูป 15 นาทีเสร็จ ไม่ต้องมีใต้โต๊ะ ไม่ต้องมีนายหน้า เอาขึ้นมาบนดินให้หมด ตัดวงจรผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมให้หมด ตั้งใจฝากไว้เป็นผลงาน”
ด้านธนาคารแรงงาน ใช้งบฯจากการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน จากกองทุนชราภาพประมาณ -30% โดยนำเงินสะสมในกองทุนชราภาพมาบริหาร ขณะนี้อยู่ในระหว่างแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้นำเงินไปค่ำประกัน ห้ามคืน จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สามารถเลือกได้ว่า จะรับบำเหน็จหรือรอบำนาญ
นอกจากนี้ยังให้สามารถนำสิทธิไปค่ำเพื่อกู้ธนาคาร ถ้าผิดนัดชำระหนี้ให้มาเรียกคืนเงินจากประกันสังคมได้ เปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุนเหมือนเป็นโฉนดที่ดิน
พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…)พ.ศ….อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ โดยจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี ปลายปี 2564 ต่อจากนั้นจะนำเข้าสู่สภาเห็นชอบ มีระยะเวลาดำเนินการคือ เดือนม.ค.-มี.ตค. 2564 เปิดรับฟังความคิดเห็น
-เม.ย.2564 ยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่…) พ.ศ.
-พ.ค.2564 คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาหลักการ
-มิ.ย.2564 เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นชอบ
-ก.ค.-ส.ค.2564 คณะกรรมการกฎหมายกระทรวงพิจารณา
-ก.ย.2564 เสนอที่ประชุมครม.
-ต.ค.-ธ.ค.2564 คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง
-ม.ค.2565 ครม.ส่งสภาฯพิจารณา 3 วาระ
ความมุ่งมั่นของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะยกระดับ การดูแลแรงงานให้ครอบคลุมโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ผ่านขั้นตอนการยกร่างเป็นกฎหมายแล้ว กว่าจะผ่านทุกขั้นตอนอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะได้เห็นผลรูปธรรมในช่วงต้นปีหน้า 2565 อย่างแน่นอน