จีนเพิ่มงบฯกลาโหมปี’64!?! แตะที่ 6.34 ล้านลบ.ชี้แค่ 1/4 ของงบทหารสหรัฐที่ 21.73 ล้านลบ. แม้โควิดยังคุกคาม

2981

รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมในปีนี้อีก 6.8% แตะที่ 1.35 ล้านล้านหยวน (2.09 แสนล้านดอลลาร์-ประมาณ 6 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันที่งบประมาณด้านกลาโหมขยายในอัตราเลขหลักเดียว โดยรัฐบาลได้ยื่นแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) หรือ “ฉวนกั๋วเหรินต้า” ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ในวันนี้แต่ สหรัฐบอกตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่าอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพราะไม่รวมงบฯวิจัยและการจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ขณะที่งบฯกลาโหมของสหรัฐประกาศว่าปีนี้ทุ่มงบกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่งบฯเยียวยาประกาศว่าจะทุ่ม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำต้องรอผ่านวุฒิสภาสหรัฐก่อน  สะท้อนการแข่งขันทางทหารของมหาอำนาจไม่ได้ลดลงเลย ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทรงตัว แต่ความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ และประสิทธิภาพวัคซีนยังมีอยู่

วันที่ 5 มี.ค.2564 รายงานของรัฐบาลจีนระบุว่า การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภาจีน (National People’s Congress:NPC) เริ่มขึ้นในวันนี้ โดยวาระสำคัญที่คอการเมืองทั่วโลกจับตาคือ การเปิดเผยงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหม ทุกฝ่ายคาดว่าจะสูงขึ้นมากในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วภายหลังการระบาดโควิด-19  และปัจจัยความตึงเครียดด้านความมั่นคงสูง ระหว่างจีนกับสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก แต่ความจริงผิดคาด

ปี 2564 งบประมาณด้านกลาโหมของจีน 1.35 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 2.09 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.8%ของปีก่อน มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 4 ของงบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐซึ่งอยู่ที่ 7.405 แสนล้านดอลลาร์สำหรับปีงบประมาณ 2564 พร้อมทั้งระบุว่า ในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกนั้น การใช้จ่ายด้านกลาโหมต่อหัวของประชากรจีนในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1,000 หยวน

การประเมินจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SOPRI) งบฯกลาโหมของจีนปี 2562 อยู่ที่ 261,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐปีเดียวกันอยู่ที่ 732,000 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ  3.4% ของGDP

งบฯกลาโหมของจีนปี 2563 อยู่ที่ 178,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 5,395,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 30 ปี

ทั้งนี้ จีนประกาศยึดมั่นในการดำเนินงานตามกลไกการจัดสรรด้านการคลัง และการบริหารงบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างเคร่งครัด โดยงบประมาณเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปในด้านบุคลากร การฝึกฝึน การคงสถานะ และด้านอุปกรณ์ นอกจากนี้ จีนยังได้ปรับลดกำลังทหารลงอีกกว่า 4 ล้านนายนับตั้งแต่ปี 2521เป็นต้นมา สวนทางกับนักวิเคราะห์ในจีนเองว่า

 

หนี ลีเซียง ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเรือ แห่งคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ วิเคราะห์ว่า จีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ความท้าทายด้านความมั่นคงครั้งใหญ่ นับตั้งแต่สงครามเกาหลี โดยลีเซียงคาดว่า จีนจะเพิ่มงบประมาณทางทหารสูงขึ้นมาก เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ มีการขายอาวุธสหรัฐให้กับไต้หวัน  และพบเรือประจำการบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอยู่นอกชายฝั่งของจีน รวมถึงเรือรบและเรือดำน้ำฝรั่งเศสในทะเลจีนใต้ 

ในด้านสหรัฐฯ รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เคลื่อนไหวเพื่อเตือนรัฐบาลปักกิ่งว่า สหรัฐมุ่งมั่นจะแข่งอิทธิพลกับจีน โดยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางทหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ กองเรือรบของสหรัฐได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าคือส่วนหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งถูกมองว่า เป็นการยั่วยุรัฐบาลปักกิ่ง 

 

รอสส์ เบบเบค เจ้าหน้าที่ศูนย์ประเมินยุทธศาสตร์และงบประมาณในกรุงวอชิงตัน และอดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมของออสเตรเลีย คาดว่า จีนจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมขึ้นประมาณ 7%  อาจจะน้อยกว่าที่บางคนคิดไว้ จากเหตุผลที่ว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดี

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของรอยเตอร์ พบว่า เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียง 2.3% ในปี 2563 และคาดว่าจะเติบโต 8.4% ในปี 2564